Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เลาะตำนาน “ทุ่งบางเขน” สัญลักษณ์ทางการเมืองในระบอบใหม่ ก่อนกำเนิด “วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน”

อนุสาวรีย์ปราบกบฏในอดีต ในพื้นที่บางเขน ก่อนถูกรื้อในปี 2562 ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว

หากพูดถึงสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย(ที่ไม่เคยมีในประเทศไทย) แน่นอนว่า “วัดพระศรีมหาธาตุ” สร้างขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ แต่น้อยคนจะรู้เหตุแห่งความเป็นมานี้  ส่วนมากแล้วก็เข้าใจกันว่า “วัดพระศรีมหาธาตุ” บางเขน ก็เหมือนกับวัดทั่วๆไป วัดหนึ่ง ที่ให้คนไปกราบไหว้สักการะพระบรมสารีริกธาตุ

ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจําภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกเล่าถึงวัดแห่งนี้ในอีกแง่มุมที่ไม่เหมือนวัดทั่วไป ว่า ย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2485  มีพิธิเปิด “วัดพระศรีมหาธาตุ” อย่างเป็นทางการ กลายเป็นวัดที่มีความหมายพิเศษต่อสังคมการเมืองไทย ณ ขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง

ทุ่งบางเขนในอดีต ก่อนจะมีการพัฒนาให้เป็นเมืองเจริญโดยคณะราษฎร

แม้ว่าสถานะเชิงดังกล่าวจะดำรงอยู่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม มิติหรือนัยทางประวัติศาสตร์ของวัดแห่งนี้ที่มีต่อสังคมและการเมืองไทยในขณะนั้น อาจกล่าวโดยไม่เกินเลยได้ว่า วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน สร้างขึ้นให้มีสถานะเป็นดั่งวัดสัญลักษณ์ของยุคประชาธิปไตย และเป็นวัดสัญลักษณ์ของคณะราษฎรด้วย

วัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่ในพื้นที่ “ทุ่งบางเขน” ซึ่งมีนัยสําคัญทางประวัติศาสตร์ไม่แพ้ตัววัด กล่าวคือเคยเป็นสมรภูมิรบระหว่างกลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ภายใต้การนําของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กับทหารฝ่ายรัฐบาลของคณะราษฎรในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เหตุการณ์ครั้งนั้นรู้จักกันต่อมาในชื่อ “เหตุการณ์กบฏบวรเดช” ซึ่งกลุ่มกบฏบวรเดชให้เหตุผลในการก่อเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากความไม่พอใจการบริหารของรัฐบาล ที่ปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัตริย์ และมีคนในรัฐบาลบางคน (หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม) กําลังดําเนินนโยบายเศรษฐกิจไปในลักษณะคอมมิวนิสต์

พระองค์เจ้าบวรเดชได้เป็นแกนนําในการรวบรวมทหารจากหัวเมืองต่างๆ เคลื่อนพลมายึดสนามบินดอนเมืองในวันที่  11 ตุลาคม พ.ศ. 2476  โดยยื่นคําขาดต่อรัฐบาลให้ลาออกภายใน 1 ชั่วโมง  แต่รัฐบาลคณะราษฎรไม่ยอมตามข้อเสนอ โดยมองว่าเป็นความพยายามในการล้มระบอบประชาธิปไตย เพื่อถวายคืนพระราชอํานาจแก่กษัตริย์อีกครั้ง ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ตอบโต้ด้วยการส่งกองกําลังผสมที่มีพันตรี หลวง พิบูลสงคราม เป็นแม่ทัพ เข้าต่อสู้ มีการปะทะกันอย่างรุนแรงหลายครั้ง โดยเฉพาะที่ทุ่งบางเขน หลักสี่

การต่อสู้ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตหลายราย สุดท้ายฝ่ายกบฏต้องล่าถอย แตกพ่ายไป พระองค์เจ้าบวรเดชหลบหนีโดยเครื่องบินไปลี้ภัยที่ไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม รัฐบาลคณะราษฎรเชื่อว่าเหตุของกบฏบวรเดชครั้งนี้ รัชกาลที่ 7 น่าจะมีส่วนอยู่เบื้องหลังไม่มากก็น้อย ส่งผลให้ภาพพจน์ของสถาบันกษัตริย์และกลุ่มเจ้านายตกต่ำ และแน่นอนว่านำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎรมากขึ้น จนในที่สุดรัชกาลที่ 7 ต้องสละราชสมบัติไป

“ทุ่งบางเขน” ช่วงก่อน พ.ศ. 2476 จากหลักฐานเอกสารและแผนที่เก่าให้ภาพของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา มีเพียงทางรถไฟตัดผ่าน และมีสถานีบางเขนเป็นเสมือนศูนย์กลางความเจริญ มีตลาด ร้านค้าขนาดเล็ก และไร่ผัก อยู่รายรอบสถานีรถไฟ อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ทุ่งบางเขนเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็กที่ไม่มีความสําคัญมากนัก แต่หลังจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช ทุ่งบางเขนได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รัฐบาลคณะราษฎรให้ความสนใจพื้นที่นี้เป็นอย่างยิ่ง และระดมงบประมาณเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองที่มีความเจริญ

รัฐบาลคณะราษฎรได้ย้ายศูนย์กลางชุมชนบางเขนจากบริเวณใกล้สถานีรถไฟมาทางทิศตะวันออก ตรงบริเวณที่เป็นวงเวียนหลักสี่ ที่ตั้งอนุสาวรีย์ปราบกบฏ(ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้วหลังจากมีการสร้างรถไฟฟ้า) และสํานักงานเขตบางเขน มีการตัด “ถนนประชาธิปไตย” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพหลโยธิน เพื่อระลึกถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร) การเกิดขึ้นของถนนประชาธิปไตย ซึ่งเชื่อมต่อพื้นที่ทุ่งบางเขนไปสนามบินดอนเมือง ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่ความเจริญแบบสมัยใหม่  ไม่ว่าจะเป็นย่านตัวเมือง สถานที่ราชการ สถานศึกษา ฯลฯ  และยิ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อรักษาระบอบรัฐธรรมนูญ (ระบอบประชาธิปไตย) รวมไปถึงการทําหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่ง

ทุ่งบางเขนในอดีตถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของกรุงเทพฯ
สภาพทุ่งบางเขนเมื่อปีพ.ศ.2500
ลำคลองในพื้นที่ทุ่งบางเขนเป็นแหล่งหาปลาของชาวบ้านและใช้ในการสัญจร
ลำคลองในพื้นที่ทุ่งบางเขนเป็นแหล่งหาปลาของชาวบ้านและใช้ในการสัญจร

ชัยชนะของคณะราษฎรที่มีต่อฝ่ายนิยมเจ้า  ซึ่งในประวัติศาสตร์เหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชในครั้งนั้นคือจุดเปลี่ยนสําคัญ ที่ทําให้บทบาทของเจ้าและสถาบันกษัตริย์ถูกแยกออกไปจากการเมืองจนเกือบจะสิ้นเชิงเป็นเวลาหลายปี (จนถึง พ.ศ. 2490 ซึ่งบทบาทของเจ้าและสถาบันกษัตริย์เริ่มหวนกลับมาอีกครั้ง)

ดังนั้น คงไม่เกินไปนัก หากจะกล่าวว่า “พื้นที่ทุ่งบางเขน” บริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏในยุคคณะราษฎร คือพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สําคัญมากที่สุดพื้นที่หนึ่งในระบอบใหม่ และด้วยความพิเศษของพื้นที่นี้ ทําให้โครงการจัดสร้าง “วัดพระศรีมหาธาตุ” ถูกกําหนดขึ้นในบริเวณนี้

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี