Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เศร้าไหม??…ถ้าไม่มี “สถานีรถไฟหัวลำโพง”

ด้านหน้าของสถานีรถไฟหัวลำโพงในปัจจุบัน

สถานีรถไฟ “หัวลำโพง” กำลังเป็นกระแสในสังคมขณะนี้ นับแต่นักศึกษาคณะโบราณคดีและสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร แถลงการณ์ออกโรงค้านการปิดสถานีซึ่งจะปิดตัวลงในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 นั่นหมายความว่า เดือนพฤศจิกายน 2564  จะเป็นเดือนสุดท้ายที่ขบวนรถไฟจากทุกสารทิศทั้งระยะใกล้และไกลจะเข้า-ออกสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือหัวลำโพง  และจะต้องย้ายการเดินรถไฟทุกขบวน รวมทั้งขบวนเชิงพาณิชย์ จากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีกลางบางซื่อให้หมด ภายในเดือนดังกล่าว ซึ่งเท่ากับว่านับแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป จะไม่มีขบวนรถไฟผ่านสถานีสามเสน ยมราช และหัวลำโพง เข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงอีกต่อไป..

ย้อนกลับไปดูเรื่องราวความเป็นมาของสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อ 9 มีนาคม พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตรึงหมุดปฐมฤกษ์ของทางรถไฟจุดแรก ณ บริเวณพื้นที่ของกรมรถไฟหลวง หน้าวัดเทพศิรินทร์   กรุงเทพฯ ในเวลานั้นมีชุมชน มีผู้คนหนาตา โดยเฉพาะชุมชนชาวจีนแถวเยาวราช สำเพ็ง ที่เกาะกลุ่มกันทำมาค้าขาย ในย่านบริเวณนั้นมีทุ่งหญ้ากว้าง ใช้เป็นที่เลี้ยงวัวของแขก ชาวบ้านเห็นฝูงวัววิ่งอย่างคึกคะนองอยู่กลางทุ่งจึงเรียก “ทุ่งวัวลำพอง”

ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มโครงการสถานีรถไฟ ณ พื้นที่ตรงนี้

พ.ศ.2453 จึงเริ่มก่อสร้างบนพื้นที่ราว 120 ไร่  ในตอนนั้นเรียกว่า  “สถานีรถไฟกรุงเทพ”  ทำการขุดคลอง สร้างถนนในบริเวณใกล้เคียง  ซึ่งก็เป็นปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว  เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคตการก่อสร้างมาแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459  รัชกาลที่ 6 ทรงกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเข้าสู่หัวลำโพง

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  กองทัพญี่ปุ่นใช้สยามหรือประเทศไทยเป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง ฝ่ายอังกฤษ อเมริกา นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ หลายจุด  จึงมีการสร้างหลุมหลบภัยด้านหน้าหัวลำโพง ขุดเป็นหลุมเพื่อให้ประชาชนเข้าไปหลบภัย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์สร้างอนุสาวรีย์รูป “ช้างสามเศียร” พร้อมสลักภาพนูนต่ำเป็นพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ  นอกจากนี้ ที่นี่ยังถือเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของทางรถไฟในประเทศไทยด้วย

สำหรับตัวอาคารสวยสง่าของสถานีรถไฟหัวลำโพง ออกแบบโดย “มาริโอ ตามานโญ” สถาปนิกชาวอิตาเลียนและทีมงานชาวอิตาเลียน ซึ่งเข้ามารับราชการอยู่ที่กระทรวงโยธาธิการ ในราชสำนักสยาม เป็นผลงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์  โดยมีรูปแบบเป็นทรงประทุนเรือ หรือ อาร์คโค้ง หรือ ทรงกระบอกฝ่าซีกสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซอง วางผังอาคารเป็นรูปตัวอี  คล้ายกับสถานีรถไฟในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี อาคารนี้ยังเป็นตัวอย่างของวิศวกรรมโครงสร้างเหล็กที่ได้รับการออกแบบมาอย่างลงตัว มีการคำนึงถึงการระบายอากาศและก่อสร้างอย่างประณีต หาได้ยากในปัจจุบัน

จุดเด่นของอาคาร คือ กระจกสีช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ติดตั้งกลมกลืนกับตัวอาคาร  และนาฬิกาเรือนใหญ่บอกเวลาที่สั่งทำมาเป็นพิเศษให้มีไฟส่องสว่างในตัว อยู่ทั้งด้านหน้าและด้านใน มองเห็นได้อย่างชัดเจน  นาฬิกามีอายุเก่าแก่เท่า ๆ กับตัวอาคารสถานี ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหน้าปัด 120 เซนติเมตร และเข็มนาฬิกามีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร

การขนส่งพัสดุและไปรษณีย์บริเวณสถานีหัวลำโพง
คณะเจ้าพนักงานและข้าราชการกรมโยาธิการ เมื่อวันทำพิธีกดปุ่มเดินรถไฟขบวนแรก
ด้านหน้าตรงเห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมหลังคาโค้งชัดเจน

ในสมัยแรกมีโรงแรมขนาดเล็ก ชื่อ “ราชธานี” อยู่ในหัวลำโพง สำหรับผู้เดินทางที่ต้องค้างคืน มีอาหารเครื่องดื่มบริการแบบในยุโรป โรงแรมนี้ออกแบบโดย “อัลเฟรโด ริกาซซี” ดำเนินกิจการโดยการรถไฟหลวง ถือเป็นโรงแรมรถไฟของสถานีกรุงเทพ ที่หรูหราไม่แพ้โรงแรมชั้นหนึ่งของยุโรป ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นส่วนของสำนักงานการรถไฟ  แต่ยังสามารถจินตนาการได้ถึงความหรูหราจากเสาหินอ่อนและโถงบันไดที่ตกแต่งฝ้าเพดาน ไม้ประดับคิ้วบัว

หนังสือ 100 ปี สถานีกรุงเทพได้เล่าถึงโรงแรมราชธานี ว่า ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีมุขยื่นที่ปลายทั้งสอง  แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วน  คือ ส่วนห้องพักอยู่ตรงกลาง อาคารแบ่งเป็น 2 ชั้น  ชั้นล่างเป็นส่วนบริการ ประกอบด้วย ห้องโถงทางเข้าตั้งอยู่ปลายสุดทิศใต้ มีบันไดใหญ่ผังตัวยู แบบ 3 ตอนขึ้นตรงกลางแล้วหมุนกลับแยกซ้ายขวา ติดกับโถงทางเข้าเป็นภัตตาคารขนาดใหญ่ ส่วนกลางอาคารเป็นห้องครัว ที่พักพนักงาน และส่วนบริการซักล้าง พื้นที่ส่วนทิศเหนือเป็นที่ทำการไปรษณีย์ ปลายสุดทิศเหนือเป็นสำนักงานศุลกากร สำหรับตรวจกระเป๋าและหีบห่อที่จะต้องเสียภาษี

นาฬิกาเรือนใหญ่ที่มีทั้งด้านในและด้านนอกอาคารสถานี

ชั้นบนเป็นส่วนของห้องพักมี 10 ห้อง เรียงต่อกันเป็นแถว เชื่อมกันด้วยระเบียงทางเดินกว้าง 3.25 เมตร หันหน้าเข้าสถานี ประกอบด้วยห้องธรรมดา 9 ห้อง โดยแบ่งพื้นที่เป็นห้องนอนใหญ่ ห้องเก็บของ ห้องน้ำ และระเบียง ส่วนปลายอาคารทิศเหนือเป็นห้องสวีท มีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของห้องธรรมดา โดยเพิ่มห้องนั่งเล่น ห้องผู้ติดตาม และห้องแต่งตัว ปลายสุดทิศเหนือเป็นดาดฟ้าคอนกรีต สำหรับการขนส่งสัมภาระขึ้นลง มีลิฟต์ไว้บริการ 2 ตัว ตั้งอยู่ที่หัวและท้ายอาคาร ลองจินตนาการดูเอาเถิดว่า โรงแรมราชธานีเวลานั้นจะเลิศหรูขนาดไหน

บนพื้นที่ 120 ไร่ของสถานีรถไฟหัวลำโพง แบ่งแยกเป็นอาคารต่างๆ อีกมากมาย ทั้งยังเป็นที่ทำการของการรถไฟแห่งประเทศไทย โรงรถดีเซลรางกรุงเทพ (โรงซ่อมบำรุง) กองกำกับการตำรวจรถไฟ อาคารตึกบัญชาการ (ตึกขาว) สโมสรรถไฟ อาคารพัสดุยศเส (ตึกแดง) ซึ่งมีทั้งที่สร้างในยุดเดียวกับสถานีกรุงเทพ และต่อมาหลังจากนั้น

…สิ่งก่อสร้างเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นอดีตที่ไม่หวนกลับ หากมุ่งหวังแต่เชิงพาณิชย์ และยังมองไม่เห็นคุณค่าในการอนุรักษ์สืบทอดต่อไปยังรุ่นหลัง…

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

ป้ายแสดงการเปิดใช้สถานีรถไฟ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีเปิดรถไฟหลวงสายแรก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีเปิดรถไฟหลวงสายแรก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดการเดินรถไฟสายแรกกรุงเทพฯ -สมุทรปราการ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบพิธีเปิดและประทับขบวนรถไฟ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกดปุ่มให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีกรุงเทพ
ภายในอาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง
รูปแบบสถาปัตยกรรมหัวเสาของกรีกแบบคอรินเธียน สถาปัตยกรรมโบราณของกรีก - โรมัน
รูปแบบเสาที่เหมือนกับสถาปัตยกรรมกรีก
ลวดลายประดับที่หัวเสา เป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่รับอิทธิพลมาจากตะวันตก
สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือเปลี่ยนมาเรียก หัวลำโพง ในปัจจุบัน
หัวลำโพงสมัย พ.ศ.2500
อาคารโถงสถานีเป็นอาคารหลังคาโค้งขนาดใหญ่
อาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ ได้รับอิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมจากยุโรป
หน้าต่างและช่องระบายอากาศ
ลายปูนปั้นมนุษย์ รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก ยุคฟื้นฟูเรอเนสซองส์
กระจกสีเหลืองเข้มและอ่อนเรียงสลับกันเป็นจุดเด่นของหัวลำโพง
เสาคู่ไอโอนิค ด้านนอกอาคาร