Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เหลือเชื่อ!! “พญามังกร” ที่แม่น้ำฮวงโห

ส่วนหางของพญามังกร ที่มา สื่อจีน CGTN

หากประเทศไทยมี “แม่น้ำโขง” เป็นแหล่งเกิดความลี้ลับพิศดารเช่นเรื่อง “พญานาค”  ในประเทศจีนก็มี “แม่น้ำฮวงโห” นี่แหละ ที่จะพอฟัดพอเหวี่ยงกันได้กับไทย เมื่อเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แปลกประหลาดเกิดรูป “พญามังกร” ปรากฏกายที่แม่น้ำสายนี้

อย่า…อย่าเพิ่งเข้าใจผิด คิดว่ามังกรมาแหวกว่ายในแม่น้ำเช่นพญานาคในประเทศไทย เหตุการณ์ธรรมชาติครั้งนี้เกิดขึ้นจากเมื่อไม่นานมานี้ระดับน้ำในแม่น้ำฮวงโหได้ลดระดับลงจนสามารถมองเห็นพื้นด้านล่าง และปรากฏภาพเม็ดทรายเป็นลวดลายต่างๆ แต่ละคนที่พบเห็นก็มองแตกต่างกันไป 

แต่จากมุมมองภาพถ่ายทางอากาศที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้คนอย่างมาก คือ การที่เห็นเป็นภาพ “พญามังกร” รูปเป็นร่างชัดเจนราวกับภาพวาด  ไม่ว่าจะกรงเล็บ ลำตัว  ส่วนหางที่พริ้วไหวสมจริงราวกับมีชีวิต สำหรับคนจีนแล้วถือว่า “มังกร” เป็นสัตว์มงคลเพราะเป็นสัตว์ของเทพเจ้า และยังเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่อีกด้วย

สำหรับแม่น้ำฮวงโหนั้น ภาษาจีนกลางออกเสียง “หวงเหอ”  นับว่าเป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของจีนมาอย่างยาวนาน มีความยาวเป็นอันดับสองของประเทศจีนรองจากแม่น้ำแยงซีหรือฉางเจียง และยาวเป็นอันดับ 6 ของโลกคือราว 5,500 กิโลเมตร หรือยาวกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 15 เท่า อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 5,400 เมตร 

คำว่า “ฮวงโห” หมายถึงแม่น้ำสีเหลืองนั่นเอง ดังนั้น บางคนจึงเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า “แม่น้ำเหลือง”  ไหลผ่าน 9 มณฑลจากฝั่งตะวันตกมาทางตะวันออกของจีน ส่วนต้นกำเนิดของแม่น้ำอยู่บนเทือกเขา Bayan Har ในมณฑลชิงไห่ทางตะวันตกของจีนใกล้เขตรอยต่อกับธิเบต จากการละลายของหิมะแล้วไหลรวมเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นมีกระแสน้ำที่รุนแรงและเส้นทางคดเคี้ยว เวลาเกิดน้ำท่วมจะท่วมรุนแรงมากจนได้รับฉายา  “แม่น้ำวิปโยค”

การที่แม่น้ำฮวงโหมีสีเหลืองก็เนื่องมาจากเมื่อช่วงที่กระแสน้ำไหลผ่านบริเวณที่ราบสูง ซึ่งเป็นดินเหลืองก็ได้พัดพาเอาตะกอนดินทรายสีเหลืองติดมาด้วย จนน้ำกลายเป็นสีเหลืองอย่างที่เห็น  ความสำคัญอีกประการ คืออารยธรรมจีนถือกำเนิดขึ้นบริเวณจุดที่แม่น้ำฮวงโหไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเว่ย ทำให้มีแร่ธาตุช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงเป็นบริเวณที่ตั้งรกรากของชนชาวจีนมาแต่แรกเริ่ม เมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ทั้ง 7 แห่งได้แก่  ซีอาน, นานกิง, ปักกิ่ง, ลั่วหยาง,ไคฟง, อานหยาง, หางโจว  ล้วนตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำฮวงโห

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

ความพริ้วไหวของหางราวกับมีชีวิต ที่มา สื่อจีน CGTN
ที่มา สื่อจีน CGTN
ที่มา สื่อจีน CGTN
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นภาพหาดทรายของแม่น้ำฮวงโห (ภาพจากสื่อจีน CGTN)
ความคดเคี้ยวและความยาวของแม่น้ำฮวงโห
แม่น้ำฮวงโหมีสีเหลือง บางครั้งจึงเรียกชื่อ แม่น้ำเหลือง