Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

“แรกนาขวัญ” ไม่ใช่พิธีพราหมณ์มาแต่เดิม แต่เป็นพิธีกรรมในศาสนาผีสุวรรณภูมิ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

แรกนาขวัญ ไม่ใช่พิธีพราหมณ์นะครับ เพราะแค่คำว่า “ขวัญ” ก็ไม่มีอยู่ในสารบบความเชื่อของพวกพราหมณ์แล้ว 

สุวรรณภูมิยุคก่อนรับศาสนาพุทธ – ศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย เชื่อว่าวัตถุต่างๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ต่างก็มีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นตัวตนได้แก่ “ร่างกาย” กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตน คือ “ขวัญ” 

แม้แต่ สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติ ต่างก็มีขวัญกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ขวัญควาย ขวัญยุ้งข้าว ขวัญนา จึงไม่แปลกอะไรเลยที่จะมี พิธีแรกนาขวัญ 

ขวัญ ต่างจากสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณ ตามคำสอนทางศาสนาจากอินเดียมากทีเดียว เพราะเมื่อคนตายวิญญาณก็ดับหายไปหรือจะวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละศาสนา แต่ขวัญไม่หายไปพร้อมเจ้าของที่ตาย ในทางตรงข้ามขวัญของผู้ตายยังมีอยู่ แล้วพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของตน ไม่ว่าเหย้าเรือนเดิมจะอยู่ที่ส่วนไหนของโลก 

ขวัญ มีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นตัวตน และมีความสำคัญเท่าๆ กันหมด รวมถึงสำคัญเท่ากับร่างกายด้วย เพราะร่างกายต้องมีขวัญ ถ้าไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต ฉะนั้นร่างกายที่มีชีวิตต้องมีขวัญ เช่น ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญแขน ขวัญขา ฯลฯ 

 ดังนั้น “ขวัญ” จึงแตกต่างจาก “วิญญาณ” เป็นอย่างมาก เพราะวิญญาณตามความเชื่อที่เราอิมพอร์ตมาจากอินเดียนั้น เรามีอยู่เพียงคนละดวงเท่านั้น ผิดจากขวัญ ที่เราแต่ละมีกันอยู่เพียบดวง 

ด้วยเหตุนี้คนสมัยก่อนจึงเชื่อว่าถ้ามีขวัญอยู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีความสุข แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไปเจ้าของขวัญก็ไม่มีความสุข ไม่เป็นปกติ อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงตายได้ ดังนั้นจึงมีความเชื่อที่ว่า เมื่อเจ้าของขวัญเจ็บป่วยแสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว มีความจำเป็นต้องจัดพิธีเรียกขวัญ หรือพิธีสู่ขวัญให้กลับเข้ามาอยู่ที่เดิม 

อย่างคำร้องโบราณว่า “ขวัญเอ๊ย ขวัญมา” นั่นแหละครับ 

พิธีกรรมเกี่ยวกับขวัญมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น เรียกขวัญ สู่ขวัญ ทำขวัญ เป็นต้น ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความผูกพันในระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติระหว่างบุคคลกับครอบครัว และบุคคลกับชุมชน ที่เริ่มมีขึ้นในสังคมกสิกรรมหรือสังคมชาวนาที่ยังล้าหลังทางเทคโนโลยีตั้งแต่เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว

บรรดาเครือญาติจะจัดพิธีทำขวัญขึ้นเมื่อเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งเหตุที่ดีและเหตุที่ไม่ดี เช่น ฝันร้าย รวมทั้งได้รับอุบัติเหตุเภทภัยจากสถานการณ์ต่างๆ 

 ผู้ทำพิธีเกี่ยวกับขวัญด้วยการท่องบ่นคำสู่ขวัญเป็นทำนองอย่างหนึ่งด้วยฉันทลักษณ์กลอนร่าย เรียกว่าหมอขวัญ เป็นคนเดียวกับหมอผี-หมอพร เทียบเท่ากับผู้เชี่ยวชาญพิเศษในวิชาความรู้เฉพาะทางเหมือนนักบวชในศาสนาต่างๆ สมัยหลัง 

เห็นไหมครับ ไม่เกี่ยวกับพราหมณ์เลย ยิ่งพิธีแรกนาขวัญ ก็ยิ่งไม่เกี่ยว 

แรกนาขวัญ เป็นภาษาของคนในภาคกลางที่ราบลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงกับภาษาของคนบริเวณสองฝั่งแม่นํ้าโขงว่า “นาตาแฮก” 

คำว่า “แฮก” มีความหมายตรงกับคำว่า “แรก” หมายถึงการไถนาทำนาปลูกข้าวครั้งแรกในนาจำลอง

ขนาดเล็กๆที่สมมุติขึ้น แล้วมีพิธีสู่ขวัญวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ที่บางทีเรียกผีนาหรือพระภูมินาช่วยดลบันดาลให้ทำนาจริงๆ ได้ผลผลิตเป็นข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์เหมือนนาจำลองที่สมมุติขึ้นครั้งแรกนี้ บางแห่งในภาคเหนือจะทำพิธีสังเวยแม่โพสพพร้อมกันไปด้วยเลยทีเดียว พิธีอย่างนี้มีมาแต่ดั้งเดิมในชุมชนคนดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว มีหลักฐานเป็นภาพเขียนสีบนเพิงผาที่ภูปลาร้า จ.อุทัยธานี และ ผาหมอนน้อย ติดกันกับผาแต้ม โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นพยาน 

ภาพเขียนสีทั้งสองแห่งนี้ แสดงรูปการทำนา หรือทุ่งนา และมักจะถูกแปลความว่าเป็นการเขียนบันทึกภาพชีวิตประจำวัน แต่โดยปกติแล้ว ภาพเขียนสีตามผนังถํ้า หรือเพิงผาต่างๆทั่วโลกไม่มีการบันทึกภาพชีวิตประจำวันอย่างนั้นหรอกครับ เพราะ “ศิลปะ” ในความหมายปัจจุบันยังไม่เกิด 

 มีการศึกษาโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มชุมชนดั้งเดิม (primitive society) ทั้งในออสเตรเลียและแอฟริกา ที่ยังมีการใช้งานและผลิตภาพเขียนสีตามผนังถํ้าต่างๆ อยู่พบว่าภาพเหล่านี้ล้วนใช้ประกอบในพิธีกรรม แต่จะมีรายละเอียดอย่างไรนั้นก็แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม ไม่มีการวาดภาพวิวทิวทัศน์ หรือภาพเหมือนของสัตว์เพื่อความสุนทรีย์ใดๆ ทั้งสิ้น ภาพเขียนสีที่ภูปลาร้า และผาหมอนน้อยก็ควรจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน 

 ภาพวัวที่ภูปลาร้าเองก็มีลวดลายประดับอยู่บนตัวไม่ต่างจาก “พระโค” ในพระราชพิธีจรดพระนังคัล

แรกนาขวัญสักเท่าไหร่นัก ในขณะที่รูปวัวที่ผาหมอนน้อยมีร่องรอยแสดงให้เห็นว่ามีการประดับประดา

ร่างกายวัวที่ส่วนหางอยู่เช่นกัน 

สรุปง่ายๆ ว่า สมัยก่อนทุกคนมีอาชีพทำนาต้องทำกันทั่วไปก่อนจะลงมือทำนาจริง ต่อมาเมื่อราชสำนักรับแบบแผนพราหมณ์ฮินดูมาจากชมพูทวีป จึงปรุงแต่งให้สอดคล้องกับพิธีพราหมณ์เพื่อความศักดิ์สิทธิ์สูงขึ้น เช่น มีพระโคเสี่ยงทาย มีการเชิญเทวดามาเสกเป่าข้าวเปลือกที่ใช้หว่านในพิธี เมื่อเสร็จงานก็ให้ชาวบ้านแย่งกันเก็บเม็ดข้าวเปลือกไปบูชา และโปรยลงในนาของตนเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดข้าวมากขึ้น เพราะถือว่าศักดิ์สิทธิ์ 

ภาษาราชการเรียก “แรกนาขวัญ” ว่า “จรดพระนังคัล” ตามคำเขมร โดยคำว่า “นังคัล” มีความหมายว่า ผาลไถนา จรดพระนังคัล จึงแปลว่า “การไถนาครั้งแรก” คำๆ นี้จึงตรงกับคำว่า “แรกนาขวัญ” หรือ “นาตาแฮก” อย่างหายห่วง 

และก็เป็นตัวอย่างของพิธีกรรมในศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิอีกพิธีหนึ่ง ที่ถูกจับบวชเข้าเป็นพิธี

พราหมณ์หลังบรรพบุรุษของพวกเราอิมพอร์ตศาสนามาจากชมพูทวีป และยังคงมีกระทำสืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (และขาดไม่ได้ เพราะเป็นการเสียธรรมเนียมและเชื่อว่าหากไม่จัดพิธีจะทำให้เกิดอาเพศได้เสียด้วยซํ้า) ในสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนาเถรวาทอย่างมั่นอกมั่นใจเสียเต็มประดา 

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี