วัดป่าดาราภิรมย์ ตั้งชื่อขึ้นตามพระนามของพระราชชายา “เจ้าดารารัศมี” พระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่ได้ถวายตัวเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นการสมรสเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับสยาม
“เจ้าดารารัศมี” มีเชื้อสายวงศ์เจ้าเจ็ดตนทั้งทางพระบิดาและพระมารดา ถือว่ามีบรรดาศักดิ์สูงกว่าพระเชษฐาและพระภคินีที่ประสูติจากเจ้าแม่องค์อื่นๆ ปี พ.ศ. 2416 ที่เจ้าดารารัศมีประสูตินั้น เป็นปีที่มีเหตุการณ์สําคัญหลายประการเกิดขึ้น นอกจากนี้ปี พ.ศ. 2416 ยังเป็นปีที่เจ้าอุปราชอินทนนท์ (พระเจ้าอินทวิชยานนท์) ซึ่งขณะนั้นรักษาการในตําแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สืบต่อจากพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ. 2399-2413) ได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อรับตําแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลําดับที่ 7 รวมทั้งมีการลงนามในหนังสือสัญญา ว่าด้วยการที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จะทําการรักษาบ้านเมืองให้เรียบร้อย (ร.ศ. 92) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการปกครอง
เชื่อกันว่าแม้การถวายตัวของเจ้าดารารัศมี จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2429 แต่ก็มีการวางแผนการและเตรียมการต่างๆ ไว้นานแล้ว ทั้งฝ่ายเชียงใหม่และฝ่ายกรุงเทพฯ เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกสร ลงมากรุงเทพฯ ได้พาเจ้าดารารัศมี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูล ว่าเมื่อขึ้นไปถึงบ้านเมืองแล้ว จะได้ทําการมงคลตัดจุกเจ้าดารารัศมี รัฐบาลสยามจึงมีคําสั่งให้พระยาเทพประชุน (พุ่ม ศรีไชยันต์) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครเชียงใหม่ จัดงานพิธีโสกันต์แก่เจ้าดารารัศมี การพิธีโสกันต์นี้รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระกุณฑล(ตุ้มหูระย้าเพชรคู่หนึ่ง) เป็นของขวัญ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงวันศุกร์ เดือน 12 แรม 9 ค่ำ ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช 1245 ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความเข้าใจโดยทั่วไปว่า “มิใช่เป็นแค่ของขวัญธรรมดา” แต่หมายความถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “หมั้นหมาย” อันเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะมิใช่แบบอย่างประเพณีของเจ้านายฝ่ายเหนือ มีแต่เจ้าดารารัศมีพระองค์เดียวที่เข้าพิธีนี้อย่างราชประเพณีของเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี 3 ปีต่อมา พ.ศ. 2429 ก็มีการถวายตัวเจ้าดารารัศมีอย่างเป็นทางการ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าดารารัศมีเข้ารับราชการฝ่ายใน อยู่ในพระราชอุปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ โดยให้ประทับที่ “ห้องผักกาด” (พระที่นั่งดํารงสวัสดิ์ อนัญวงศ์) ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายหลังเจ้าดารารัศมีทรงขอพระบรมราชานุญาตสร้างพระตำหนักของพระองค์เอง โดยใช้เงินของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระตำหนักดังกล่าวเป็นตำหนักขนาดใหญ่สูง 4 ชั้น สร้างแบบตะวันตก ภายในตกแต่งด้วยไม้สักที่ส่งมาจากเมืองเชียงใหม่ ด้วยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ต้องการให้พระธิดามีพระเกียรติสมฐานะเจ้านายเมืองเชียงใหม่ รัชกาลที่ 5 ก็ทรงไม่ขัดข้องใดๆ มีเพียงข้อทักท้วงว่าเจ้าดารารัศมีใช้เงินเป็นเบี้ย และทรงเรียกเจ้าดารารัศมีเป็นการส่วนพระองค์ว่า “เมียโปลีซี “
ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จวรรคต รัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ เจ้าดารารัศมีกราบบังคมทูลลาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จกลับไปประทับที่เชียงใหม่พร้อมกับเจ้าแก้วนวรัฐ เมื่อเสด็จพระดำเนินถึงนครเชียงใหม่ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2457 ได้เข้าประทับยังคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง ตั้งแต่นั้น กระทั่งในบั้นปลายพระชนม์ชีพได้ไปประทับอยู่ที่ พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างพระราชทาน โดยแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าหลวงในพระองค์ เป็นเวลานานถึง 20 ปี จนกระทั่ง วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2476 พระองค์เริ่มประชวรด้วยโรคปอด เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อสะดวกในการดูแลพระอาการ แต่พระอาการก็มิได้ทุเลาลงและสิ้นพระชนม์ในที่สุด ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา 60 ปี
สำหรับวัดป่าดาราภิรมย์ ไม่ใช่วัดที่เจ้าดารารัศมีสร้างแต่อย่างใด เป็นแต่เพียง เจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่ ทายาทของเจ้าดารารัศมี ได้ถวายที่ดินสวนเจ้าสบายให้แก่วัด เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระราชชายา จึงตั้งชื่อวัดว่า “วัดป่าดาราภิรมย์” ส่วนการก่อตั้งวัดเบื้องต้นมาจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ธุดงค์มาพำนัก ณ ป่าช้าร้างติดกับสวนเจ้าสบายซึ่งเป็นพระตำหนักดาราภิรมย์ ชาวบ้านได้มาสร้างเสนาสนะต่างๆ กุฏิ ศาลา ถวายให้ใช้สอยเลยเรียกกันว่า “วัดป่าวิเวกจิตตาราม” หรือ “วัดป่าเรไร” หรือ “วัดป่าแม่ริม” กระทั่งมีการถวายที่ดินเพื่อสร้างวัดดังกล่าวจึงเรียกขานกันว่า “วัดป่าดาราภิรมย์” แต่นั้นมา
วัดป่าดาราภิรมย์ ตั้งอยู่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอแม่ริม และค่ายดารารัศมี ภายในวัดนอกจากความงดงามของสถาปัตยกรรมแบบล้านนาแล้ว ยังมีสิ่งน่าสนใจต่างๆ อาทิ พระอุโบสถ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี อาคารหลักภายในวัด ก่อสร้างตามรูปแบบศิลปะล้านนา หลังคาซ้อนสองชั้น ช่อฟ้าและหางหงส์เป็นรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ หน้าบันประดับด้วยลายดอกไม้และก้านไม้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปพระสยัมภูโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสุโขทัย
วิหารหลวง มีลวดลายแกะสลักตามจุดต่างๆ อย่างวิจิตรบรรจง มณฑปพระจุฬามณีศรีบรมธาตุ (หอแก้ว) เป็นมณฑปสี่เหลี่ยมจตุรัสมีหลังคาซ้อนกัน 4 ชั้น ประดิษฐานพระทันตธาตุเจ้า ยอดมณฑปเป็นรูปทรงปราสาทเจดีย์ปิดทองคำหุ้มจังโก ลักษณะเป็นศิลปะล้านนาไทยผสมสกุลไต
มณฑปพระเจ้าทันใจ ประดิษฐาน”พระเจ้าทันใจ” มณฑปเป็นศิลปะล้านนาแบบเชียงตุง สร้างจำลองแบบมาจากที่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าเชียงตุง สร้างโดยเจ้าวรจักร ณ เชียงตุง ทายาทเจ้าผู้ครองนครเชียงตุง เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานบรรจุอัฐิเจ้าฟ้าเชียงตุงและเจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง
ปัจจุบันวัดป่าดาราภิรมย์ เปิดให้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวได้เข้าชมศิลปะล้านนาอันงดงามติดอันดับต้นๆ ของเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ประดิษฐานภายในวัด ตั้งแต่พระบรมสารีริกธาตุ, พระธาตุของเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีต โดยเฉพาะสายพระป่าลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น มารวมกันอยู่ที่นี่หมด ยังมี “ท้าวเวสสุวรรณ” และ “พระเจ้าทันใจ” พระศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมไปขอพรและขอในเรื่องที่ต้องการ ซึ่งเล่าลือกันว่ามักจะสมปรารถนาตามที่ขอ
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี