สมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2347-2411) สยามประเทศมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างๆ เช่น การเข้ามาของของชาติตะวันตก, การเลิกส่งเครื่องบรรณาการจิ้มก้องกับจีน, การเรียนการสอนภาษาอังกฤษของเจ้านายไทย ฯลฯ แล้วในเวลานั้น เวทีโลกมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างไร
เมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่เป็นวาระครบรอบ 200 ปีประสูติกาลของรัชกาลที่ 4 มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย และบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ จัดงานวิชาการเฉลิมฉลองสัมมนาเรื่อง “200 ปีพระเจ้ากรุงสยาม” ขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2547 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ธนบุรี
ภายหลังมูลนิธิโครงการตําราฯ จัดทำเป็นเอกสารชื่อ “โลกของพระเจ้ากรุงสยามกับวิเทโศบาย” โดยอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ อาจารย์กัณฐิกา ศรีอุดม ที่ทำให้เห็น “โลก” ในขณะนั้น จึงขอนำเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)
จาก พ.ศ.2347/1804 คือปีประสูติ (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19) มาจนถึงปีที่ขึ้นครองราชย์ พ.ศ.2394/1851 ไปจนกระทั่ง พ.ศ. 2411/1868 (หลังตอนกลางของศตวรรษที่ 19) อันเป็นปีที่สวรรคตนั้น กล่าวอย่างสากล (ฝรั่ง) ก็คือประมาณครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นเอง
นี่เป็นสมัยที่ตรงกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial revolution) ในยุโรปตะวันตก กับอเมริกาเหนือ และนี่ก็ตรงกับสมัยของลัทธิจักรวรรดินิยม (imperialism) อันเป็นจุดสุดยอดของพัฒนาการของระบบทุนนิยม (capitalism) ที่ฝรั่งแผ่ขยายระบบทุนของตนไปล่าอาณานิคมยึดโลกเกือบทั้งโลกเป็นเมืองขึ้น
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือรัชสมัยของพระองค์ท่าน ตรงกับการที่ฝรั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษกลายเป็นเจ้าโลก สร้างระบบโลกใหม่ที่เรียก ได้ว่าเป็น globalization แต่ถูกขนานนามว่า Pax Britannica ในขณะเดียวกันก็สิ้นสุดยุคสมัยที่จีนที่ขนานนามตนเองว่า “อาณาจักรกลาง” (หรือ “ตงฮั้ว”) สร้างระบบโลกที่เป็น Pax Sinica ต้องสิ้นสุดลง
ระบบโลกที่จีนสร้างมาเป็นเวลานับพันๆ ปีแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นที่กําหนดให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกัน รัฐน้อยรัฐใหญ่ อาณาจักรใดๆ ก็ตาม ต้องติดต่อสัมพันธ์กับจีนต้องยอมรับใน “ระบบบรรณาการ” ต้องไป “จิ้มก้อง” และ “กุ๋ย” (คํานับ) ต่อกรุงปักกิ่งนั้น ก็ต้องสิ้นสุดลง
นั้นเป็นปลายสมัยของราชวงศ์ชิง (แมนจู) และพระเจ้าฮำฮอง (จีนกลางออกเสียงว่า “เสียนฟง” Xianfeng) ก็จะเป็นจักรพรรดิจีนองค์สุดท้ายที่ได้รับการ “จิ้มก้อง” จากพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2396/ 1853 หรือ 2 ปีก่อนหน้าที่สยามของพระองค์จะลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง 2398/1855 นั่นเอง สยามออกจากวงจรอํานาจของจีน เข้าสู่วงจรอํานาจของอังกฤษ…
ในทางประวัติศาสตร์นั้น ถือกันว่าการทําสัญญาเบาว์ริงเป็นนโยบายต่างประเทศไทยที่ “โอนอ่อนผ่อนตาม” หรือ “ลู่ตามลม” ที่แตกต่างจากหลายๆ ประเทศในเอเชียและอุษาคเนย์ และก็มีส่วนอย่างมากในการทําให้สยาม/ไทยสามารถรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกัน “การเปิดประตู” ครั้งนี้ ก็ทําให้สยาม/ไทย สามารถทําประเทศให้ “ทันสมัย” และได้รับการยอมรับจากประเทศ “ตะวันตก” (modernization and westernization)
ดังที่กล่าวแล้วว่า ช่วงพระชนมายุของพระจอมเกล้าฯ เป็นเวลา 20-27+17 = 64 ปีนั้น [20 ปี ขณะทรงพระเยาว์, 27 ปี ขณะทรงผนวช และ 17 ปี ขณะทรงครองราชย์จนสวรรคต] เป็นยุคสมัยที่ตรงกับความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวดของโลก
ในที่นี้เราจะมาดูกันว่าโลกใบใหญ่และ “กลม” ใบนี้นั้น ในสมัยที่ตรง กับรัชสมัยของพระองค์ท่านนั้นเป็นอย่างไร
ในปี พ.ศ. 2347/1804 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าฟ้ามงกุฏประสูตินั้น ตรงกับเหตุการณ์สําคัญในยุโรป คือ นโปเลียน โบนาปาร์ต สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศส ทรงสวมมงกุฏด้วยพระองค์เองต่อหน้าสันตะปาปาปิอุส ที่ 7 ณ กรุงปารีส ปีนั้นบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company-EIC) ก็ทําสงครามใหญ่ขยายอิทธิพลของตนในอินเดีย
ปีนี้ ตรงกับปีเกิดของนักประพันธ์ดนตรีคนสําคัญ คือ Johann Strauss (1804-1849) กับ Benjamin Disraeli นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ (1804-1881) รวมทั้งหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley, M.D.) มิชชันนารีคนสําคัญในสยามและตรงกับปีมรณะของนักปรัชญาเยอรมันคนสําคัญเช่นกัน คือ Immanuel Kant (1724-1804)
ช่วงระยะเวลาที่ทรงพระเยาว์กับทรงผนวชอยู่นั้น ยุโรปกําลังปั่นป่วนด้วย สงครามนโปเลียน (สงครามบุกมอสโก 1812 หรือพ.ศ. 2355 กับสงครามวอเตอร์ลู 1815 หรือ พ.ศ. 2358) กับกระแสของลัทธิชาตินิยมที่ระบาดไปทั่ว ในขณะเดียวก็เกิดกระแสของความคิดสังคมนิยมและลัทธิมาร์กซ์ (1848 Communist Manifesto)
เมื่อพระจอมเกล้าฯ ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2394/1851 นั้น สถิติประชากรในประเทศสําคัญๆ ของโลก คือ จีนมีพลเมืองถึง 430 ล้านคน (ในจํานวนนี้ชายฉกรรจ์จีนจํานวนมากกําลังหลั่งไหลออกไปเป็น “แรงงานกุลี” ทั่วโลก รวมทั้งในอุษาคเนย์และในสยาม/ไทย ชายจีนอีกจํานวนหนึ่งก็เสพย์และติดฝิ่นที่นําเข้าจากอินเดียโดยอังกฤษ)
จีนนั้นเป็นมหาอํานาจ “ขาลง” ในขณะที่อังกฤษเป็นมหาอํานาจ “ขาขึ้น” มีประชากร 20 ล้าน เทียบกับฝรั่งเศสคู่แข่งมีมากกว่า คือ 33 ล้าน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่กําลังยุ่งกับปัญหาภายในประเทศมี 23 ล้าน และเยอรมนีที่กําลังรวมชาติ และพยายามเป็นเจ้าอาณานิคมจักรวรรดินิยม (กับเขาบ้าง) มี 34 ล้าน
ส่วนอาณาจักรอยุธยาของเรา ที่ตอนนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ ฝั่งซ้าย ของแม่น้ำเจ้าพระยา และกําลังทําการขนานนามตนเองใหม่สําหรับ “หู ตา และปาก” ของชาวต่างชาติว่า “สยาม” แต่ขนานนามเป็นการภายในสําหรับตนเองว่า “รัตนโกสินทร์” นั้น มีประชากรอยู่ระหว่าง 4-6 ล้านคน สยามกําลัง เริ่มนับก้าวแรกของการ “วิ่งไล่ตาม” ทั้ง “ลอกและเรียน/เลียนแบบ” โลกอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ตะวันตก
ปี พ.ศ. 2394/1851 เดียวกันนั้น นสพ. The New York Times ปรากฏตัวขึ้นในเดือนกันยายน และHerman Melville ก็แต่งนวนิยายดังเรื่อง Moby Dick ในขณะที่ Issac Singer ประดิษฐ์เครื่องจักรเย็บผ้า (ที่มีฝีเข็มเย็บต่อเนื่อง) เริ่มแพร่ไปทั่วโลก และที่ถือว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในโลกฝรั่งคือ การจัดงานมหกรรมนานาชาติเป็นครั้งแรก เรียกว่า The Great Exhibition ที่คริสตัลพาเลซ กรุงลอนดอน โดยเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของพระนาง เจ้าวิกตอเรีย (ครองราชย์ 2380/1837-2444/1901)
ในปี พ.ศ.2395/1852 ถัดมาซึ่งเป็นปีที่ 2 ในรัชกาลนั้น ก็เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าเป็นครั้งที่ 2 เป็นผลให้อังกฤษได้ดินแดนพม่าไปอีก ในส่วนที่เป็นตอนกลางปากแม่น้ำอิระวดี หลังจากที่ได้ดินแดนตอนล่าง แถบมะละแหม่ง ทวาย มะริด ตะนาวศรีไปแล้วตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 2 ของไทย ปีนี้ฝรั่งเศสได้รื้อฟื้นสถาบันจักรพรรดิขึ้นมาใหม่ มีจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ขึ้นมาครองราชย์และก็เริ่มขยายอิทธิพลเข้าสู่อินโดจีน
ในขณะที่นักประพันธ์สตรีนาม Hariet Beecher Stove เขียนเรื่อง “กระท่อม ของลุงทอม” Uncle Tom’s Cabin ขึ้นมาเป็นที่โด่งดัง กลายเป็นอาวุธร้าย ต่อต้านระบบทาสในอเมริกา และกลายเป็นหนังสืออ่านประกอบการสอนภาษาอังกฤษของแหม่มแอนนาในราชสํานักของพระจอมเกล้าฯ เอง เชื่อกันว่าเจ้าจอมมารดากลิ่นในรัชกาลที่ 4 เป็นสตรีแรกในสยามที่อ่านหนังสือเล่มนี้และเกิดความซาบซึ้งอย่างมาก
ในปี พ.ศ.2398/1855 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ในรัชกาลและตรงกับการทําสนธิ สัญญาเบาว์ริงนั้น มีการจัดแสดง International Exhibition ที่กรุงปารีส และบริษัทเรือคิวนาร์ด (Cunard) ก็ประสบความสําเร็จในการเดินเรือ (เหล็ก) เครื่องจักรไอน้ำข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรก (ใช้เวลา 9 วันครึ่ง)
ในขณะที่ Ferdinand de Lesseps ก็ได้รับสัมปทานจากฝรั่งเศสให้ขุดคลองสุเอซ และก็มีการก่อตั้ง นสพ. The Daily Telegraph ในกรุงลอนดอน ปีเดียวกันนี้ ซาร์นิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซียสวรรคต ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ คืออเล็กซานเดอร์ที่ 2 ผู้เป็นพระราชบิดาของซาร์นิโคลัสที่ 2 (ที่ขึ้นครองราชย์ เมื่อ ค.ศ. 1881/พ.ศ. 2424 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 และจะกลาย เป็นพันธมิตรสําคัญของสยาม)
ในขณะที่กบฏไต้ผิง (Taiping Rebellion) ก็เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 2394/1851 และจะขยายไปจนสามารถเขย่าราชบัลลังก์จีนอย่างเข้มข้น (2396/1853-2407/1864) ยาวนานถึง 11 ปี มีผู้คนล้มตายหลายสิบล้านคน กบฎระบาดแพร่ไปทั่วชนบทจีน และทําให้ชนกลุ่มน้อยด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทะลักลงมายังเวียดนามเหนือกับลาว กลายเป็นเรื่องของ “ฮ่อ” ในสมัยของรัชกาลที่ 5
ความปั่นป่วนดังกล่าวควบคู่กับการที่ราชสํานักชิงของพระเจ้าฮำฮองและพระนางซูสีไทเฮา ต้องเผชิญกับสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2399/1856-2403/1860 หลังจากที่จีนได้พ่ายแพ้และถูกย่ำยี มาแล้วในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ปี 2382/1839-2385/1842 (เพื่อความเข้าใจในบริบททางประวัติศาสตร์ โปรดสังเกตศักราชของสงครามฝิ่นนี้ จะตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 ของไทยตามลําดับ)
ประมาณตอนกลางของรัชสมัยในปี พ.ศ. 2404/1861 จะตรงกับปีสวรรคตของจักรพรรดิจีนพระเจ้าฮำฮอง และเริ่มยุคสมัย “การเมืองหลังม่านไม้ไผ่” อันยาวนานของพระนางซูสีไทเฮา ปีนั้นกษัตริย์เฟรเดอริก วิลเลียมที่ 4 แห่งปรัสเซีย สุลต่านอับดุลเมยิด (Sultan Abdul Mejid) แห่งจักรวรรดิ ของพระนางเจ้าวิกตอเรีย) ก็สิ้น ปีนั้นเกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา (ที่มีลินคอล์น เป็นประธานาธิบดี และรัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์จะส่งช้างไปเป็นของขวัญให้กรุงวอชิงตัน)
ปีนั้นเช่นกันในกรุงลอนดอนเริ่มมีรถราง (ม้าลาก) และบริษัท กรุปป์ (Krupp) นายทุนใหญ่ของการค้าอาวุธที่เอสเซ็น (Essen) ในเยอรมนี และสหรัฐอเมริกาเริ่มใช้พาสสปอร์ต (passport system)
ครั้นในปีสุดท้ายแห่งรัชกาล พ.ศ. 2411/1868 นั้นก็เกิด สุริยุปราคา เต็มดวง เป็นปีเดียวกันกับที่ Tokugawa Yoshinobu ยอมสละอํานาจเป็นการสิ้นสุดระบอบการปกครองโชกุน และฟื้นฟูพระราชอํานาจของจักรพรรดิราชวงศ์เมจิ (Meiji Dynasty) โดยมีบรรดานายทุนและขุนศึกเป็นผู้ถืออํานาจเต็มตามระบอบรัฐธรรมนูญใหม่
ปีนั้นนักประพันธ์ สตรี (อีกเช่นกัน) L. M. Alcott เขียนเรื่อง “สี่ดรุณี” หรือ Little Women ส่วน Dostoevsky ก็เขียนเรื่อง The Idiot ปีนั้นมีการบันทึกเป็นหลักฐานว่ามีการ แข่งขันจักรยานระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรครั้งแรกในกรุงปารีส และที่สําคัญ คือ มีการประชุมสหภาพการค้า (Trades Union Congress) ครั้งแรกเช่นกัน ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ (ก่อนหน้านี้ Kar Marx ได้จัดตั้ง International Workingmen’s Association ไปแล้วตั้งแต่ปี 2407/1864 และก็ได้เขียน Das Kapital เมื่อปี 2410/1867)
จะเห็นได้ว่ายุคสมัยของรัชกาลที่ 4 ตรงกับระบบเศรษฐกิจการค้าแบบใหม่ (ระบบเสรีนิยม การค้าเสรีและทุน) กับเรื่องของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เช่น เครื่องจักรไอน้ำ รถไฟและเรือกลไฟ จักรยานโทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ที่จะมีพัฒนาการโดยไม่หยุดยั้งเรื่อยมาจนกระทั่งถึงเรือบิน และโทรคมนาคมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถืออย่างที่เรา เห็นในปัจจุบัน
สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “โลกาภิวัตน์” หรือ globalization ของยุคสมัยนี้ที่มีฝรั่งตะวันตกเป็นผู้นํา มีผลกระทบต่อบ้านเมืองสยาม และรัชสมัยของพระองค์อย่างเห็นได้ชัดเจน และนี่ก็น่าจะเป็นบริบทที่ช่วยให้เราเข้าใจ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในสยามประเทศ หรือที่เราเรียกกันว่า “หน่อ” หรือจุดเริ่มต้นของ “การปฏิรูป” นั่นเอง ที่ทําให้สยาม “ทันสมัย” เป็นที่ยอมรับได้ของ “ฝรั่ง” โลกตะวันตก
ในขณะเดียวกันก็เป็นจังหวะ หรือโอกาสของการเริ่มรวมอํานาจที่ศูนย์กลางที่องค์พระมหากษัตริย์และที่เมืองหลวงหรือกรุงเทพพระมหานคร