อาจจะมองดูเหมือนว่าวัดแห่งนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจนัก นอกจากจะเป็นสถานที่สำคัญในหมู่บ้านให้ชาวบ้านได้มาทำบุญหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในความเป็นจริงแล้วกลับตรงกันข้าม เพราะที่ “วัดกลาง” แห่งนี้ มีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่สืบสาวราวเรื่องและปะติดปะต่อให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยาอย่างแจ่มชัดในหน้าประวัติศาสตร์ นั่นคือ “ใบเสมาหินทรายโบราณ” ขนาดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ในวัดแห่งนี้นั่นเอง และไม่เฉพาะที่วัดกลางเท่านั้น ยังมีที่วัดขนอน วัดเก้าห้อง เป็นต้น
ในอดีตนานมาแล้ว เชื่อกันว่าย่านอำเภอบางบาลในปัจจุบันเคยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อมีความเจริญรุ่งเรืองและขยายตัวมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา โดยที่ย่านบางบาลนี้ได้ตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2438 แต่เดิมนั้นชื่อ “อำเภอเสนาใน” ตั้งอยู่ที่ตำบลผีมด (ตำบลไทรน้อยในปัจจุบัน) จนเมื่อปี พ.ศ. 2453 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลบางบาล ซึ่งนายเขียว บางบาล เป็นผู้บริจาคที่ดินเพื่อก่อสร้างที่ว่าการอำเภอ ดังนั้น จึงเปลี่ยนชื่อจากอำเภอเสนาใน เป็น “อำเภอบางบาล” ตามนามสกุลของผู้บริจาคที่ดิน
มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นปริมณฑลเทศาภิบาลตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ทรงเห็นว่าแขวงต่างๆ มีพลเมืองมาก ท้องที่กว้างขวาง ยากแก่การปกครองดูแลทุกข์บำรุงสุขของประชาชนได้ทั่วถึง จึงให้ผู้รักษากรุงแบ่งเขตการปกครองเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยแบ่งแขวงเสนาออกเป็น 4 แขวง คือ อำเภอเสนาใหญ่ (ปัจจุบันคืออำเภอผักไห่) และ เสนากลาง (อำเภอเสนาในปัจจุบัน) แบ่งแขวงเสนาน้อยออกเป็น อำเภอเสนาใน (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอบางบาล) และอำเภอเสนาน้อย (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอบางไทร)
อย่างไรก็ดี การแบ่งแขวงเสนาออกเป็น 4 แขวง ทำให้มีการเรียกชื่อทางการปกครองในระยะต่อมาเกิดความสับสน จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่เพื่อความสะดวกยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2514 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภออีกครั้ง เนื่องจากสถานที่ตั้งของอำเภอคับแคบทำให้การขยายบริเวณทำได้ยาก จึงย้ายมาตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลมหาพราหหมณ์ จนปี พ.ศ. 2548 ได้รับงบประมาณจากกรมการปกครองก่อสร้างที่ว่าการอำเภอหลังใหม่เสร็จจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ “วัดกลาง” ตั้งอยู่ในตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา มีคลองมหาพราหมณ์ เป็นคลองสำคัญในการคมนาคมติดต่อค้าขาย แต่ปัจจุบันตื้นเขินไม่ได้ใช้แล้ว เชื่อกันว่าบริเวณที่ตั้งของวัดโบราณแห่งนี้ เป็นที่มาของการเกิดกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ. 1893 เนื่องมาจากหลักฐานที่เป็นใบเสมานี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนมาก่อน ก่อนที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม บางทฤษฏีให้ความสำคัญกับตัวโบราณสถาน เช่น พระเจดีย์ พระอุโบสถ หรือ พระวิหาร ถ้าเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่จะมีร่องรอยศิลปะแบบอยุธยาตอนต้นหรือแบบอโยธยา
ที่วัดกลางมีสิ่งสำคัญ คือใบเสมาขนาดใหญ่ ทำด้วยหินทรายสีแดง เชื่อกันว่าเป็นกลุ่มใบเสมาที่เก่าจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้นหรือว่าก่อนกรุงศรีอยุธยาด้วยซ้ำไป นักประวัติศาสตร์ศิลปคนสำคัญ คือ น ณ.ปากน้ำ กำหนดอายุใบเสมากลุ่มนี้ว่าเป็นกลุ่มอู่ทอง-อโยธยา ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่าบริเวณทางฝั่งตะวันตกของเกาะเมืองอยุธยา แถบแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาที่อำเภอบางบาล และแถบคลองมหาพราหมณ์ ซึ่งเป็นคลองสำคัญ มีวัดกลาง วัดขนอน วัดเก้าห้อง ฯลฯ ตั้งอยู่เป็นพื้นที่ที่อาจเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งใบเสมาในวัดเหล่านี้ไม่เหมือนกับกลุ่มใบเสมาที่อยู่ในเกาะเมืองอยุธยา
ใบเสมาที่วัดกลางทำจากหินทรายแดง ปัจจุบันใบเสมาหินทรายเหล่านี้ได้ตั้งไว้รอบอุโบสถ นับเป็นโบราณวัตถุที่มีคณค่ามาก และยังมีต้นโพธิ์ใหญ่หลังอุโบสถที่คาดว่ามีมาพร้อมกับการสร้างวัดตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนจะเกิดกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ในวัดยังมีสิ่งน่าสนใจอื่นๆ อาทิ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ ศาลาเอนกประสงค์ทรงไทย หอฉัน โรงครัวแบบทรงไทยประยุกต์ มีพระประธานในพระอุโบสถ และหลวงพ่อชัยมงคลในหอสวดมนต์
วัดกลางและวัดย่านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงน่าสนใจให้ค้นหาความเป็นมาของอดีตอีกแห่งหนึ่ง
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก ทัวร์มติชนอคาเดมี