Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ไปเล่นน้ำตกพลิ้ว…รับวาเลนไทน์กับ..”ความรักของรัชกาลที่ 5″

ทิวทัศน์ยามเย็นของเขาสอยดาวเหนือ อีกแห่งหนึ่งที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวในจันทบุรี อยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว

..ต้นเดือนกุมภาพันธ์ปกติแล้วยังอยู่ในช่วงของฤดูหนาว อากาศหนาวตอนเช้า ส่วนตอนสายๆ เย็นสบาย เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยว

สถานที่กลางป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี เย็นสบายสดชื่นผ่อนคลายดีนัก  ชื่อ “น้ำตกพลิ้ว” หลายคนเคยรู้จัก แต่อีกหลายคนอาจยังไม่เคยเห็นความงาม

เรื่องของ “น้ำตกพลิ้ว” ไม่ใช่น้ำตกธรรมดา แต่เป็นน้ำตกในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชาผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชน

ที่ตั้งของน้ำตกพลิ้วอยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติ “เขาสระบาป” เนื่องจากพื้นที่นั้นอยู่ในบริเวณเทือกเขาสระบาป  ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วเมื่อปี พ.ศ. 2525

เขาสระบาปมียอดสูงสุดคือยอดเขามาบหว้ากรอก สูง 924 เมตรจากระดับน้ำทะเล ภายในอุทยานฯ พบร่องรอยของสัตว์ป่าสำคัญหลายชนิด เช่น เสือ หมี เลียงผา เก้ง และนกนานาชนิด

เนื่องจากมีฝนตกชุกตลอดปี บริเวณนี้จึงเป็นแหล่งต้นน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาให้แก่เขตอำเภอเมือง  อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอขลุง

ส่วน “น้ำตกพลิ้ว” ที่อยู่ในอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงาม มีน้ำตลอดปี ชื่อของน้ำตกไม่มีที่มาชัดเจน บ้างว่ามาจากสายน้ำตกที่พลิ้วสวยงาม บ้างก็ว่ามาจากชื่อของต้นพลิ้วที่ชอบขึ้นริมน้ำตก

เป็นไม้เถาออกดอกเป็นช่อ ทางอุทยานฯ นำมาปลูกไว้ในบริเวณใกล้กับที่ทำการ ก่อนจะมารวมตัวเป็น “น้ำตกพลิ้ว” มาจากธารน้ำสองสาย สายหนึ่ง-ต้นน้ำเป็นน้ำผุดจากใต้ดินไหลลดหลั่นผ่านซอกหินลงมาเป็นทอด ๆ

อีกสาย-เป็นธารน้ำขนาดเล็กกว่าสายแรก ทั้งสองสายไหลมาบรรจบกันก่อนทิ้งตัวจากผาสูง 20 เมตรลงสู่แอ่งน้ำขนาดใหญ่เบื้องล่าง

น้ำที่น้ำตกใสสะอาดมองเห็นพื้นทรายใต้น้ำ  สามารถลงเล่นน้ำได้  แต่ไม่อาจเข้าไปใกล้กับตัวน้ำตก เพราะบริเวณนั้นเป็นวังน้ำนิ่งลึกเป็นอันตราย เจ้าหน้าที่นำทุ่นมากั้นไว้ไม่ให้คนว่ายน้ำเข้าไป

บริเวณแอ่งน้ำใสเย็นมีฝูงปลาพลวงนับร้อยๆ ตัว เวียนว่ายวนไปวนมา สร้างความตื่นตาให้กับนักท่องเที่ยวอย่างยิ่ง ชาวจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดอื่นๆ นิยมไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่นี่กันมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้หลายครั้งมาก ระหว่างปี พ.ศ. 2417-พ.ศ.2424  ทรงยกย่องว่าเป็น “น้ำตกที่งดงามที่สุด” ในบรรดาน้ำตกที่เคยเสด็จประพาสมา

หากเดินตามทางขึ้นเขาก่อนจะถึงน้ำตก จะเห็นอนุสาวรีย์ “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี” พระอัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งเป็นมเหสีที่ทรงรักมากที่สุด กระทั่งจะสวรรคตตามเมื่อทรงทราบว่าพระนางสิ้นพระชนม์

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระชนมายุเพียง 1 พรรษา ที่ได้สิ้นพระชนม์ไปด้วยกัน
น้ำตกพลิ้ว มาจากธารน้ำสองสาย หนึ่ง-ต้นน้ำเป็นน้ำผุดจากใต้ดินไหลลดหลั่นผ่านซอกหินลงมาเป็นทอด ๆ อีกสาย-เป็นธารน้ำขนาดเล็กกว่าสายแรก ทั้งสองสายไหลมาบรรจบกันก่อนทิ้งตัวจากผาสูง 20 เมตรลงสู่แอ่งน้ำขนาดใหญ่
น้ำตกไหลลัดเลาะไปตามแก่งหิน หากเป็นหน้าน้ำ ปริมาณน้ำจะมากกว่านี้หลายเท่า

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือเรียกกันว่า “สมเด็จพระนางเรือล่ม”  ได้สิ้นพระชนม์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  โดยเรือพระประเทียบล่มขณะกำลังเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน ถือเป็นกรณีสิ้นพระชนม์ของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต่างไปจากทุกพระองค์ที่สิ้นพระชนม์จากพระโรคใดพระโรคหนึ่ง แต่สมเด็จพระนางเรือล่มสิ้นพระชนม์จากการจมน้ำ

พระอนุเสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ที่ด้านหน้าน้ำตกพลิ้ว พร้อมคำจารึกไว้อาลัยของรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเป็นที่โปรดปรานเสน่หาของรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก เมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานจากกรุงเทพมหานครไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน ก็ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระนางเจ้าสุนันทาฯ ตามเสด็จด้วยแม้จะทรงพระครรภ์     เรื่องราวไม่คาดคิดก็อุบัติขึ้น…

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ก่อนการเสด็จพระราชวังบางปะอิน สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  ทรงพระสุบิน (ฝัน) บอกเหตุในคืนก่อนวันสิ้นพระชนม์ ว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอได้เสด็จไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง  ขณะทรงพระราชดำเนินข้ามสะพาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอบังเอิญพลาดพลัดตกลงไปในน้ำ พระองค์ได้ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอไว้ได้ครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็ลื่นหลุดพระหัตถ์ไปอีก ทรงตามไขว่คว้าจนพระองค์เองตกลงไปในน้ำด้วย ทรงหวั่นในพระทัยอยู่เหมือนกันว่าพระสุบินนี้จะเป็นลางร้าย

บรรณาธิการหนังสือ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” เขียนโดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม เล่าถึงเหตุการณ์นี้ว่า   “…เส้นทางเสด็จจะเสด็จทางเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปบางปะอิน โดยการเสด็จครั้งนี้มีการจัดขบวนเรือเสด็จ โดยจัดเรือเก๋งที่ประทับพระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาพระพี่เลี้ยงที่ตามเสด็จครอบครัวละหนึ่งลำ โดยใช้เรือกลไฟลากจูงนำหน้า ซึ่งขบวนเสด็จนั้นก็จะเสด็จไปพร้อม ๆ กัน แบบเรียงหน้ากระดาน เริ่มด้วยเรือกลไฟราชสีห์ ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เรือโสรวาลลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  เรือปานมารุตลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  เรือยอร์ชอยู่ติดชายฝั่ง ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร และถัดมาเป็นเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ตามลำดับ

ขบวนเรือพระประเทียบทั้งหมดออกจากท่าราชวรดิษฐ์มุ่งหน้าสู่พระราชวังบางปะอิน แต่ขณะนั้นเรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จตามไปในทันที เพราะยังติดพระราชกรณียกิจอยู่ในพระบรมหาราชวัง ก่อนจะลงเรือพระที่นั่งโสภณภควดีตามเสด็จไป…”

เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาด จวนจะเข้าปากเกร็ด พบเรือราชสีห์นั้น จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ว่า เรือพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด เนื่องจากเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ชนกับเรือโสรวาล (เรือลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี)  พระองค์จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปที่บางพูด เมื่อเสด็จไปถึง พระยามหามนตรีทูล ว่า “…เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้าใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวาลซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน  เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรงแล่นกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวาล 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ ก็เบนหัวออก ศีรษะเรือไปโดนเรือโสรวาล น้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศรีษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง..”

อุบัติเหตุครั้งร้ายแรงนี้เกิดจากความประมาทในการเดินเรือเป็นสาเหตุสำคัญ แต่กระนั้นยังมีอีกสาเหตุหนึ่งคือ ความเคร่งครัดในกฎมณเฑียรบาลที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล กฎมณเฑียรบาลข้อนี้ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการช่วยเหลือ จนทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์พร้อมกับพระราชธิดา(สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์) ในที่สุด

ปิรามิดพระนางเรือล่มภายในสถูปบรรจุพระอังคารของพระนางเจ้าสุนันทาฯ เพราะพระนางเคยเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้ว เมื่อ พ.ศ. 2417 และทรงโสมนัสชื่นชมความงามธรรมชาติของน้ำตกพลิ้วอย่างมาก การที่โปรดให้สร้างรูปปิรามิดก็ด้วยมีพระราชดำริว่า "ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็คงจะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว"
ด้านหน้าทางเข้าอุทยานฯ จะต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และลงทะเบียนก่อนเข้า
ทางเดินไปน้ำตกพลิ้ว เต็มไปด้วยแก่งหิน เจ้าหน้าที่ปรับปรุงให้เดินได้สะดวกขึ้น

ความรักความผูกพันที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระราชธิดา ปรากฏนอกเหนือจากการเตรียมงานพระศพอย่างสมพระเกียรติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งของถวายเป็นพระราชกุศล อาทิ การหล่อพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ การสร้างถาวรวัตถุเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงความรักความผูกพันในสถานที่หลายแห่ง ไม่ว่าโรงเรียนสุนันทาลัย อนุเสาวรีย์ที่สวนสราญรมย์ อนุเสาวรีย์ที่พระราชวังบางปะอิน พระเจดีย์ที่บางพูด นนทบุรี  และหนึ่งในนั้น คืออนุเสาวรีย์ที่น้ำตกพลิ้ว จันทบุรี

ทางเดินสู่น้ำตกร่มรื่นด้วยเงาไม้สูง

ความโศกสลดเสียพระทัยแสดงไว้ชัดเจนในคำไว้อาลัยลึกซึ้งที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง จารึกไว้ที่ฐานอนุเสาวรีย์ มีข้อความว่า “ที่รฤกถึงความรัก แห่งสมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชาเทวีอรรคมเหษี อันเสด็จทิวงคตแล้ว ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้ โดยมีความศุขสบายและเป็นที่เบิกบานใจ พร้อมด้วยผู้ซึ่งเป็นที่รัก แลที่สนิทยิ่งของเธอ อนุสาวรีย์นี้ สร้างขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์ บรมราช ผู้เป็นสวามี อันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์อันแรงกล้าในเวลานั้น แทบจะถึงแก่ชีวิต ถึงกระนั้นก็ยังมิได้หักหาย”

นอกจากนี้ยังมี “พีระมิดพระนางเรือล่ม” หรือ “สุนันทานุสาวรีย์”  เป็นสถูปของพระนางเรือล่มอยู่ในบริเวณใกล้กับอนุเสาวรีย์  ภายในสถูปบรรจุพระอังคารของพระนางเจ้าสุนันทาฯ เพราะพระนางเคยเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้ว เมื่อ พ.ศ. 2417 และทรงโสมนัสชื่นชมความงามธรรมชาติของน้ำตกพลิ้วอย่างมาก ..การที่โปรดให้สร้างรูปปิรามิดก็ด้วยมีพระราชดำริว่า “ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็คงจะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว” ทรงพระราชทานนามว่า “สุนันทานุสาวรีย์” (ปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 4 คราวเสด็จประพาสทะเลตะวันออก ปีมะเมีย พ.ศ. 2425)

อุทยานแห่งชาติฯ ยังได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นอยู่ตรงข้ามที่ทำการอุทยานแห่งชาติ สิ้นสุดอยู่บริเวณด้านหน้าอลงกรณ์เจดีย์ ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี

ประวัติน้ำตกพลิ้ว
เหล่านักท่องเที่ยวกับความเย็นสดชื่นของน้ำตก
อลงกรณ์เจดีย์ สร้างด้วยศิลาแลงเมื่อ พ.ศ. 2419 โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วเมื่อ พ.ศ. 2417 ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยในน้ำตกพลิ้วมาก จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกและพระราชทานนามว่า "อลงกรณ์เจดีย์"
ทางขึ้น-ลงอีกชั้นก่อนไปถึงน้ำตก
มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คอยรักษาความปลอดภัย (นั่งอยู่บนโขดหิน)
ทางการห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มไปที่น้ำตก ทุกอย่างต้องฝากไว้ที่นี่ และห้ามใช้พลาสติกในเขต อุทยานฯ
น้ำเย็นใสสะอาดจนมองเห็นพื้นทรายข้างล่าง และปลาพลวงนับร้อยตัวว่ายวนไปมา
อลงกรณ์เจดีย์ในหน้าฝนจะมีมอสเกาะเต็มไปทั้งองค์ เป็นความงามอีกแบบ
ปลาพลวงหินที่น้ำตกพลิ้วจำนวนนับร้อยตัว เชื่องมาก เวลาคนลงเล่นน้ำจะเข้ามาตอดที่ขา หรือถ้าเข้าไปนั่งริมน้ำใกล้ๆ ปลาจะว่ายเข้ามาหาทันทีเพราะนึกว่าคนจะให้อาหาร ปัจจุบันทางอุทยานฯ ห้ามนักท่องเที่ยวให้อาหารปลา