“เขาหลวง” หรือ “อุทยานแห่งชาติรามคำแหง” อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ถือโอกาสชวนกันไปเที่ยวทิพย์ก่อนได้ไปเที่ยวจริง
นอกจากความสวยงามและความน่าท้าทายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบแนวแอดเวนเจอร์เดินป่าขึ้นภูดูความงามของธรรมชาติแล้ว “เขาหลวง” ยังเป็น “อุทยานแห่งชาติทางประวัติศาสตร์แห่งแรกของเมืองไทย”
จากกรุงเทพฯ สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทางเพื่อไปยังเขาหลวง เส้นทางแรก-ทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ แล้วให้เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ไปจนถึงกำแพงเพชร จากนั้นให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางหมายเลข 101 ไปจนถึงอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ก่อนถึงจังหวัดสุโขทัย 20 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 414 จะเห็นยอดเขาสูงอยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไประยะทางประมาณ 16 โลเมตร ก็ถึงที่ทำการของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง
เส้นทางที่สอง-ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 ไปจนถึงนครสวรรค์ แล้วให้ใช้เส้นทางหมายเลข 117 ไปจนถึงพิษณุโลก และเปลี่ยนไปใช้เส้นทางหมายเลข 12 ไปจนถึงสุโขทัย แล้วเดินทางต่อถึงอำเภอคีรีมาศให้แยกซ้ายเข้าไป 16 กิโลเมตร จนเข้าสู่อุทยานฯ
ความน่าสนใจของเขาหลวงอยู่ที่ความเป็นอุทยานแห่งชาติทางประวัติศาสตร์แห่งแรกของเมืองไทย เพราะเป็นป่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งในสมัยก่อนเรียกป่านี้ว่า “ป่าเขาหลวง” แต่ต่อมาทางการเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “รามคำแหง” มาจากพระนามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ครองกรุงสุโขทัย เพราะชื่อเขาหลวงไปซ้ำกับป่าเขาหลวง ซึ่งเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติเขาหลวงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ภายในอุทยานแห่งชาติเขาหลวงสภาพอากาศบนยอดเขาจะหนาวเย็นตลอดปี มีเมฆหมอกปกคลุมมากในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ย 12-14 องศาเซลเซียส นอกจากจะมีสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ วัวแดง เก้ง หมี หมูป่า นกกระเต็น นกนางแอ่ง และพรรณไม้ที่สำคัญพวกสัก ตะเคียน เต็ง รัง ยังมีถ้ำต่าง ๆ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย
สำหรับพื้นที่ “เขาหลวง” อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน และมียอดเขาสูงที่สุดอยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองสุโขทัย บนยอดเขามีทิวทัศน์สวยงาม ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าธรรมชาติ ประกอบด้วยยอดเขา ได้แก่ “ยอดเขานารายณ์” ซึ่งมีหน้าผาสวยงามและสูงชันเหมาะสำหรับพักผ่อน สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบเขา ในเวลากลางคืนจะเห็นแสงไฟจากจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลก
“ยอดเขาพระแม่ย่า” เดิมเคยเป็นที่ประทับจำศีลภาวนาของพระแม่ย่า (แม่ย่า-ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าเป็นใคร แต่ชาวสุโขทัยเข้าใจว่าคือ นางเสือง แม่ของพ่อขุนรามคำแหง) “ยอดเขาภูกา” และ “ยอดเขาพระเจดีย์” เมื่อมองจากยอดเขาเหล่านี้ลงไปสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของตัวเมืองสุโขทัย และทำนบกั้นน้ำที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยที่เรียกว่า “สรีดภงค์” ได้อย่างชัดเจน บนเขาหลวงยังมีต้นไทรขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่ระหว่างทางขึ้นยอดเขาหลวงเรียก “ไทรงาม”
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี