ทัวร์ พินิจ… ‘พริบพรี’ ที่เมืองเพ็ชร์ อยุธยาที่มีชีวิต จ.เพชรบุรี
วันที่ 12-13 มีนาคม 2565
วิทยากร : รศ.พิชญา สุ่มจินดา
ราคา 6,900 บาท
วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2565 | |
07.00 น. | ลงทะเบียน พร้อมรับประทานอาหารเช้า ที่มติชนอคาเดมี |
08.00 น. | เดินทางสู่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี |
10.30 น. | ถึง วัดมหาธาตุวรวิหาร พระอารามกลางเมืองเพชรบุรีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ประกอบด้วยปรางค์ประธานห้ายอดที่สร้างแทนองค์เดิมที่พังลงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เข้าชมพระวิหารหลวง ที่มีเครื่องลำยองปูนปั้นอย่างทรงวิลันดา ภายในประดิษฐานพระประธานทรงเครื่องพระนามว่า ‘พระพุทธเทวฤทธิ์’ ที่ฝาผนังมีจิตรกรรมมหาชมพูบดีสูตร ฝีมือช่างพิณ อินฟ้าแสง พร้อมทั้งนมัสการหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ หรือหลวงพ่อวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นรูปพระมาลัยถือตาลปัตร จากนั้นชมธรรมจักรสลักรูปเกียรติมุขหรือหน้ากาลสมัยทวารวดี รวมทั้งพระพุทธรูปสมัยอยุธยาในระเบียงคดรอบพระปรางค์มหาธาตุ จากนั้นชมพระวิหารน้อย ซึ่งมีรูปปั้น “คึกฤทธิ์แบก” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฝีมือช่างปูนเพชรบุรีอันเลื่องชื่อ ในท่าแบกฐานหลวงพ่ออู่ทอง พร้อมชมพระพุทธรูปและพระบฏสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ในศาลานางสาวอัมพร บุญประคอง ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด |
12.00 น. | รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านพวงเพชร |
13.00 น. | เดินทางไปยัง วัดใหญ่สุวรรณาราม |
13.10 น. | ถึง วัดใหญ่สุวรรณาราม พาชมศิลปกรรมในวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ – ระเบียงคด ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยขุนศรีวังยศ โดยมีการออกแบบแยกกันเป็นหลังๆ จนรัชกาลที่ 5 ทรงชมว่าทำออกมาได้แยบคายดี ทั้งยังมีหน้าบันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลพร้อมด้วยเลข 5 ซึ่งด้านหนึ่งที่กลับซ้ายขวางดงามแปลกตา – พระอุโบสถ ที่ล้อมรอบด้วยสีมาหินทรายแดงสมัยปลายอยุธยา หน้าบันมีปูนปั้นรูปครุฑยุดนาคประกอบลายก้านขดที่เลียนแบบมาจากลายพรมเปอร์เซียและรูปพระกฤษณะทรงยืนเหนือพาณาสูร ภายในประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย และมีรูปพระสงฆ์พนมมือหล่อสำริดซึ่งเชื่อกันว่าคือสมเด็จพระสังฆราชแตงโมแห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งสมเด็จพระเจ้าเสือทรงนับถือเป็นพระอาจารย์ ที่เสาร่วมในเขียนเป็นลายทองบนพื้นชาดไม่ซ้ำแบบกันยกเว้นลายกรวยเชิงที่เหมือนกัน บริเวณผนังสกัดหน้าพระประธานวาดภาพมารผจญซึ่งมีภาพพระแม่ธรณีที่ทรวดทรงงดงามไม่แพ้วัดชมภูเวก จ.นนทบุรี ที่บานประตูด้านในวาดภาพเทพทวารบาลขนาดใหญ่บรรจงจับกระหนกพลิ้วไหวราวกับมีชีวิต ผนังแปเขียนภาพเทพชุมนุมอันโด่งดังฝีมือชั้นครู ผนังสกัดหลังเขียนลายทองบนพื้นชาดเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปมีนิ้วพระบาท 6 นิ้วองค์เดียวในประเทศไทย ที่พลาดไม่ได้คือภาพฝรั่งไว้หนวดเคราบนบานประตูของผนังสกัดหลังซึ่งไมเคิล ไรท์ เคยเสนอว่าเป็นภาพพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษและสก็อตแลนด์ – หอไตรสามเสา ที่ปลูกไว้ริมสระ กล่าวกันว่าเสาทั้ง 3 ต้นที่ค้ำหอไตรไว้สอดคล้องกับพระไตรปิฎกทั้ง 3 หมวด คือ พระวินัยปิฎก พระสุตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก – ศาลาการเปรียญไม้ ที่เชื่อกันว่านำมาจากพระราชวังหลวงอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ แต่ในที่นี้เสนอว่าอาจสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เป็นศาลาการเปรียญมุขประเจิด หน้าบันจำหลักลายก้านขาด บานประตูจำหลักลายก้านขดหน้าสัตว์และต้นไม้แห่งชีวิต มีร่องรอยถูกของมีคมทำลายจนทะลุซึ่งเชื่อกันว่าเกิดจากทหารพม่าใช้ขวานฟัน ที่ผนังเคยเขียนลายทองบนพื้นแดงแต่ถูกสีทาทับในภายหลัง ภายในมีบุษบกธรรมาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย และเคยมีสังเค็ดมุขประเจิดทรวดทรงอ่อนช้อยงดงามซึ่งย้ายไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนทุกวันนี้ |
14.30 น. | เดินทางต่อไปยัง วัดสระบัว |
14.45 น. | ถึง วัดสระบัว ตั้งอยู่เชิงเขาวัง ชมความงดงามของปูนปั้นประดับพระอุโบสถและแท่นสีมาสมัยอยุธยาตอนปลาย หน้าบันของพระอุโบสถปั้นเป็นรูปพระกฤษณะเหนือพาณาสูร ซุ้มสีมาประดับรูปชาวต่างชาติ ครุฑ สิงห์ และเทพนมแบกไม่ซ้ำแบบกัน ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ที่ด้านหลังเจาะช่องให้แสงสาดส่องเรืองรองเป็นรัศมีรอบพระประธาน เพดาน บานประตู และหน้าต่างเขียนลายทองพื้นแดงรูปมังกรและเซี่ยวกางอย่างจีน |
15.30 น. | เดินทางไปยัง วัดพระพุทธไสยาสน์ |
15.35 น. | ชม วัดพระพุทธไสยาสน์ หรือวัดพระนอน เป็นพระพุทธไสยาสขนาดความยาวเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 23 จากลักษณะการก่อซุ้มโค้งยอดแหลมเป็นกรุภายในพระอุทรของพระพุทธไสยาสซึ่งเป็นลักษณะของซุ้มแบบอินโด-อิหร่านที่นิยมเป็นอย่างมากในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เดิมประดิษฐานกลางแจ้งขนานไปกับเชิงเขาวัง ต่อมารัชกาลที่ 4 จึงทรงสร้างอาคารหลังคาสังกะสีคลุมถวาย และในรัชกาลที่ 5 จึงทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่แบบอยุธยาถวาย ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธไสยาสยังมีพระวิหารน้อยประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่สำริดจากสมัยอยุธยาตอนปลาย |
16.30 น. | เดินทางไปยัง เจดีย์แดง |
16.45 น. | ถึง เจดีย์แดง โบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่นอกเมืองเก่าเพชรบุรี เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่สูงประมาณ 20 เมตร ที่เหนือเรือนธาตุมีซุ้มประตูทางทิศตะวันออก ส่วนด้านอื่นๆ ที่เหลือทำเป็นประตูหลอก ซึ่งอาจารย์ประยูร อุลุชาฏะ หรือ น. ณ ปากน้ำ สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์แบบอโยธยา-สุพรรณภูมิ แต่มีการซ่อมที่ฐานด้านล่างให้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมแล้วใส่แข้งสิงห์เข้าไป ซึ่งเป็นรูปแบบของเจดีย์ย่อมุมในสมัยอยุธยาตอนปลาย และจากหลักฐานด้านพงศาวดารทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า อาจสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อคราวเสด็จไปคล้องช้างป่าที่เมืองเพชรบุรีแทน |
17.30 น. | เดินทางไปยัง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี |
18.30 น. | รับประทานอาหารเย็น ที่ครัวห้วยทราย |
19.50 น. | เข้าที่พัก Novotel Hua Hin Cha Am Beach Resort and Spa หรือเทียบเท่า**** จากนั้นให้ท่านพักผ่อนตามอัธยาศัย |
วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2565 | |
07.00 น. | รับประทานอาหารเช้า ที่ห้องอาหารของโรงแรม |
08.00 น. | ออกเดินทางไปยัง อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี |
08.45 น. | ถึง วัดถ้ำรงค์ ที่มีหลักฐานศิลปกรรมภายในถ้ำหินปูนธรรมชาติในซอกหลืบของเขาลูกเล็กที่อยู่ในบริเวณวัด จนกระทั่งสมัยอยุธยาตอนกลางจึงได้ปรากฏหลักฐานศิลปกรรมอีกครั้ง ดังเห็นได้จากบรรดาพระพุทธรูปยืนขนาดน้อยใหญ่ในเรือนแก้วที่ลักษณะตัวเหงาเป็นแบบอยุธยาตอนกลางและได้รับการปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ |
09.30 น. | เปลี่ยนเป็นรถราง เดินทางไปยัง ถ้ำยายจูงหลาน |
09.45 น. | ชม ถ้ำยายจูงหลาน เป็นถ้ำขนาดเล็กใกล้กับวัดถ้ำเขาน้อยเกสโร ภายในพบร่องรอยปูนปั้นระบายสีซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 เป็นภาพพระพุทธรูป ใกล้กันเป็นภาพบุคคลสวมผ้านุ่ง ศิราภรณ์และเครื่องประดับสองคน โดยบุคคลที่ยืนตริภังค์นั้นคาดว่าน่าจะเป็นพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ทั้งยังมีรูปเทวดาในท่าเหาะและพนมมือที่ผนังถ้ำอีกด้วย |
10.20 น. | แวะ สวนตาลลุงถนอม แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนด หนึ่งเดียวของเมืองเพชรบุรี แวะทานของว่างพร้อมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด |
11.10 น. | เดินทางไปยัง วัดท่าไชยศิริ |
11.20 น. | ชม วัดท่าไชยศิริ วัดโบราณตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาที่ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องน้อยสำริดจากสมัยอยุธยาตอนกลางปางห้ามญาติ พระนามว่า ‘พระพุทธศิริโรจนไชยมงคล’ ชมศาลาท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป็นท่าตักน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีเพื่อใช้ประกอบเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแต่โบราณ รัชกาลที่ 5 ก็โปรดน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีมากและทรงขอให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อใช้เป็นน้ำเสวยตลอดทั้งรัชกาล |
12.00 น. | รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านเปลญวน |
13.00 น. | เดินทางต่อไปยัง วัดเกาะ |
13.20 น. | ถึง วัดเกาะ ตั้งอยู่ที่ ต.คลองกระแชง ชมศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 5 ดังนี้ – พระอุโบสถ แบบมหาอุตม์ที่ผนังแปและผนังสกัดเขียนภาพจิตรกรรมเต็มตลอดพื้นที่ โดยผนังสกัดหลังพระประธานปางสมาธิเป็นภาพมารผจญ ผนังสกัดด้านตรงข้ามเป็นภาพจักรวาล ลำดับสวรรค์ชั้นฉกามาพจรภพตั้งแต่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประทับของพระอินทร์จนถึงสวรรค์ปรนิมมิตวัสวดีที่ประทับของพญามาร ที่ผนังแปทั้ง 2 ด้านเขียนภาพสัตตมหาสถาน คือสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขหลังตรัสรู้ทั้ง 7 แห่งโดยลำดับจากภาพมารผจญซึ่งนับโพธิบัลลังก์เป็นสัตตมหาสถานแห่งแรกไปจนลำดับสุดท้ายของผนังแป และภาพอัฏฐมหาสถาน คือสถานที่อันเนื่องในพุทธประวัติทั้ง 8 ตอนเริ่มตั้งแต่ตอนประสูติจนไปจบที่ตอนทรมานเดียรถีย์ต่อเนื่องไปจนถึงตอนเสด็จดาวดึงส์ที่ควบรวมกับภาพมารผจญที่ผนังสกัดหน้าและจบลงด้วยแห่งสุดท้ายที่ภาพมหาปรินิพพาน สอดแทรกด้วยภาพมหานครใหญ่และมหาชนบทนคร ภาพจากปัญญาชาดก เพื่อให้พระอุโบสถเปรียบได้กับชมพูทวีปอันเป็นที่ตั้งของโพธิบัลลังก์ อันเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงคติจักรวาลตามคัมภีร์โลกศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับโพธิบัลลังก์มากกว่าเขาพระสุเมรุ – ศาลาการเปรียญ ชมจิตรกรรมภาพพุทธประวัติจากปฐมสมโพธิกถาบนแผงไม้ประดับคอสอง และบุษบกธรรมาสน์สมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้รับอิทธิพลและกลิ่นอายจากธรรมาสน์สมัยปลายอยุธยา |
14.45 น. | เดินทางไปยัง วัดเขาบันไดอิฐ |
15.00 น. | ถึง วัดเขาบันไดอิฐ วัดโบราณที่มีตำนานเกี่ยวกับกัญญาหรือประทุนเรือของสมเด็จพระเจ้าเสือในถ้ำที่อยู่ลึกเข้าไปในถ้ำประทุนและยังมีพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าเสือทรงสร้างถวายพระอาจารย์แสง ถ้ำแห่งนี้มีหลักฐานการใช้งานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ดังเห็นได้จากบรรดาพระพุทธรูปปูนปั้นภายในถ้ำ จากนั้นนำชมกุฏิพระอาจารย์แสง เป็นพระวิหารหลังเล็กหรือวิหารแกลบที่ภายในมุขหลังประดิษฐานรูปพระมาลัยถือตาลปัตรสำริด พร้อมชมความงดงามของซุ้มยอดบุษบกปูนปั้นปิดทองภายในพระวิหารที่ยังคงสภาพสมบูรณ์จากสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างน่าอัศจรรย์ จากนั้นนำชมโบสถ์เมียหลวงเมียน้อยบนยอดเขาไม่ไกลจากเขตสังฆาวาสของวัด พร้อมชมหน้าบันปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนปลายรูปครุฑจับลายกระหนกที่มีความอ่อนช้อยและพลิ้วไหว ตรงข้ามกับหน้าบันอีกฝั่งที่รูปครุฑจะดูแข็งแรงและบึกบึนกว่า |
16.00 น. | แวะซื้อของฝากที่ บ้านขนมนันทวัน |
16.40 น. | เดินทางกลับกรุงเทพฯ |
19.30 น. | ถึง มติชนอคาเดมี โดยสวัสดิภาพพร้อมความประทับใจ |
***กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้า***
**พักเดี่ยวจ่ายเพิ่ม 500 บาท
- inbox เฟซบุ๊ก Matichon Academy – มติชนอคาเดมี
- Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
- Line : @matichon-tour
- line : @matichonacademy