ทัวร์ บรรพชนคนริมโขง เยือนศิลป์ 4 วัฒนธรรม 2 แผ่นดิน จ.อุดรธานี-หนองคาย-ประเทศลาว
วันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2563
05.30 น. ลงทะเบียน พร้อมรับของที่ระลึกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
07.25 น. ออกเดินทางสู่ จ.อุดรธานี ด้วยสายการบินไทยสมายล์
08.30 น. ถึง ท่าอากาศยานอุดรธานี จากนั้นนำสัมภาระของท่านขึ้นรถโค้ชปรับอากาศ ย้อนเวลาสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
10.00 น. ถึง อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ภายในปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว อีกทั้งยังมีการผูกความเชื่อกับนิทานพื้นบ้านเรื่องท้าวบารส–นางอุสา เข้าชมโบราณสถานและจุดที่สำคัญ ดังนี้
- หอนางอุสา ถือเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานฯ มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายดอกเห็ด ตั้งอยู่กลางลานหินโล่งกว้างทำ สันนิษฐานว่าอาจมีอายุเก่าแก่ถึงวัฒนธรรมทวารวดี โดยถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ด้านบนมีการก่อผนังด้วยก้อนหินทราย และสกัดเนื้อหินข้างในให้กลายเป็นห้องคูหา สันนิษฐานว่าด้านในอาจใช้เป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธ์ หรือเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
- วัดพ่อตา ชมหีบศพพ่อตา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ถ้ำมือแดง” เป็นเพิงหินธรรมชาติที่พบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และร่องรอยการสกัดพื้นหินใต้เพิงให้เรียบ จึงสันนิษฐานว่าหีบศพพ่อตาน่าจะถูกใช้งานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ จากนั้นชมถ้ำช้าง ซึ่งเป็นเพิงหินที่มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นรูปเส้นหยัก และภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์รูปช้างในบริเวณใกล้กัน
- ถ้ำพระ โบราณสถานแห่งนี้มีลักษณะเป็นเพิงหินเตี้ยๆ ที่ผนังใต้เพิงหินมีการสลักเป็นรูปพระพุทธรูปอยู่รอบด้าน ทั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางสมาธิประทับนั่งอยู่ในซุ้มหน้าบัน, พระพุทธรูปยืนขนาดเล็กยืนเรียงกัน 6 องค์ และพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงรายอยู่ทั่วทั้งผนังของเพิงหิน ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายว่าหินก้อนบนที่เป็นส่วนหลังคานั้นได้หักพังลงมา ทำให้ประติมากรรมหินสลักต่างๆ ชำรุดเสียหายไปมาก
- กู่นางอุสา มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติ มีการพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏอยู่ คือหลุมสกัดพื้นที่ใต้เพิงซึ่งน่าจะใช้ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระพุทธรูปและใบเสมาหินที่ปักอยู่ทั้ง 8 ทิศ ทั้งยังพบหลุมเสากลมเรียงเป็นกรอบสี่เหลี่ยมล้อมรอบแนวใบเสมาอีกชั้นหนึ่ง ทำให้สันนิษฐานว่าที่นี่อาจเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม หรือเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยมีอายุอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี
- วัดลูกเขย มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติที่ถูกดัดแปลงใช้เป็นศาสนสถาน โดยมีการใช้ก้อนหินทรายสกัดก้อนสี่เหลี่ยมขัดเรียบมาก่อเป็นผนังห้องและช่องประตูหน้าต่าง สภาพวัดลูกเขยที่เห็นในปัจจุบันคือสภาพหลังการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว จากเทคนิคการก่อสร้างนี้สันนิษฐานได้ว่า น่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ช่างท้องถิ่นรู้จักเทคนิคการก่อสร้างด้วยหินเช่นเดียวกับการสร้างปราสาทหินแล้ว ซึ่งก็หมายถึงช่วงเวลาหลังจากวัฒนธรรมเขมรโบราณได้แพร่หลายเข้ามายังบริเวณภูพระบาทแล้วนั่นเอง
12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้าน ส.กุ้งเผา
13.00 น. เดินทางสู่ อ.เมือง จ.หนองคาย
14.00 น. ถึง วัดพระธาตุบังพวน ชมและสักการะพระธาตุบังพวน เจดีย์ทรงบัวเหลี่ยมในศิลปะล้านช้างที่ได้รับการบูรณะในรัชสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง ที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดของเมืองหนองคาย โดยถือเป็น 1 ใน 4 ของศาสนสถานที่มีตำนานการสร้างที่มีความสัมพันธ์กับอุรังคนิทานและองค์พระธาตุพนมอีกด้วย
15.00 น. เดินทางต่อไปยัง เวียงคุก
15.20 น. ถึง วัดเทพพลประดิษฐาราม เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 สมัยอาณาจักรล้านช้าง ชมพระธาตุ 2 องค์ ที่มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือมีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมกันระหว่างล้านนากับล้านช้าง พร้อมฟังเรื่องราวของเมืองเวียงคุก เมืองหน้าด่านสำคัญของนครเวียงจันทน์มาตั้งแต่ในอดีต
16.00 น. เดินทางไปยัง วัดสาวสุวรรณาราม
16.10 น. เข้าชม วัดสาวสุวรรณาราม นี้สันนิษฐานว่าแต่เดิมสร้างในสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง โดยพระองค์ได้มอบให้หมื่นกางโฮงนำบริวารอพยพมาจากร้อยเอ็ดมาตั้งบ้านเรือนขึ้นที่นี่แล้วให้สร้างวัดขึ้น 2 วัดชมพระวิหารซึ่งสร้างทับลงบนวิหารเก่ามีพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ศิลปะแบบพื้นบ้านซึ่งน่าจะบูรณะขึ้นสมัยหลังเพราะยังมีเศียรพระพุทธรูปเดิมตามแบบศิลปะล้านช้างตกอยู่ด้านหลัง
16.40 น. เดินทางไปยัง สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 1 (หนองคาย–เวียงจันทน์) สะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง จากนั้นเดินทางสู่นครหลวงเวียงจันทน์
19.00 น. รับประทานอาหารเย็น ที่ร้านดอนจันหรือร้านเฟื่องฟ้า*
20.00 น. เข้าพักที่ Aaron Vientiane Hotel หรือเทียบเท่า**** จากนั้นพักผ่อนตามอัธยาศัย
วันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2563
07.00 น. รับประทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารโรงแรม
08.30 น. ชม พระธาตุหลวง พระมหาธาตุเจดีย์สำคัญประจำนครหลวงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นราชธานีแห่งที่ 2 ของอาณาจักรล้านช้างที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงย้ายลงมาจากหลวงพระบางเมื่อ พ.ศ.2103 ปัจจุบันมีรูปแบบเป็นธาตุทรงบัวเหลี่ยมตามแบบศิลปะล้านช้าง บริเวณระเบียงคดรอบองค์พระธาตุมีโบราณวัตถุที่ได้จากภายในนครหลวงเวียงจันทน์และโดยรอบ เช่น พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี และที่สำคัญคือพระพุทธรูปปางสมาธิซึ่งได้มาจากเมืองซายฟอง โดยพระพุทธรูปองค์นี้มีใบหน้าคล้ายกับประติมากรรมในสมัยบายน ทั้งยังมีนักวิชาการบางส่วนเชื่อว่านี่คือรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อันเป็นสิ่งที่ยืนยันการขึ้นมาของอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณในลุ่มน้ำโขงช่วงพุทธศตวรรษที่ 18
11.00 น. เข้าชม วัดสีเมือง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2106 ในรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช และที่สำคัญคือวัดนี้เป็นที่ตั้งเสาหลักเมือง โดยมีตำนานที่กล่าวถึงผู้หญิงท้อง 3 เดือนอาสากระโดดลงไปในหลุม หลังจากนั้นมีการสร้างสิมครอบไว้ โดยปัจจุบันนี้เสาหลักเมืองหรือที่ชาวเวียงจันทน์เรียกว่า “ย่าแม่สีเมือง” ถูกตั้งอยู่ในตำแหน่งของพระประธานภายในสิม นอกจากนี้ด้านหลังของสิมยังมีซากปราสาทศิลาแลงในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตั้งอยู่ด้วย
12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน ที่ภัตตาคารแม่โขง
13.00 น. เดินทางไปยัง หอพระแก้ว
13.20 น. ถึง หอพระแก้ว เดิมเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ซึ่งสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงอัญเชิญมาจากเชียงใหม่ไปไว้ที่เมืองหลวงพระบางเมื่อราว พ.ศ. 2090 จนกระทั่งเมื่อทรงย้ายราชธานีลงมายังเวียงจันทน์ก็ได้อัญเชิญลงมาพร้อมกัน ก่อนจะถูกเชิญลงมายังกรุงธนบุรีในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปปตีเวียงจันทน์ในรัชสมัยพระเจ้าสิริบุญสาร แต่เดิมหอพระแก้วคงมีลักษณะเป็นพุทธสถานในพระราชวังมาก่อน ปัจจุบันได้ใชเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาโบราณวัตถุสำคัญๆ เช่น ศิลาจารึกและพระพุทธรูปไว้จำนวนมาก
14.20 น. เดินทางไปยัง วัดสีสะเกด
14.30 น. ถึง วัดสีสะเกด เป็นวัดโบราณที่พระเจ้าอนุวงศ์ทรงปฏิสังขรณ์ในรัชกาลของพระองค์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดสัตตะสะหัสสาราม หรือวัดแสน มีรูปแบบงานช่างแบบรัตนโกสินทร์ ทั้งยังเป็นวัดที่ไม่ถูกทำลายในสงครามระหว่างกรุงเทพฯ กับเวียงจันทน์ จึงยังคงเหลือหลักฐานทางสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมฝาผนังให้เห็นอยู่จำนวนหนึ่ง อักทั้งระเบียงคดของวัดแห่งนี้ยังเป็นที่เก็บรักษาพระพุทธรูปศิลปะลาวจำนวนมากที่ได้มาจากวัดวาอารามที่ถูกทิ้งร้างในนครหลวงเวียงจันทน์
15.30 น. ชม ประตูไซ อนุสรณ์สถานเพื่อเป็นการสดุดีวีรชนผู้ร่วมรบเพื่อประกาศเอกราชจากประเทศฝรั่งเศส ปิดท้ายที่อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ชมฝั่งพานพร้าว ซึ่งเป็นอีกฝั่งหนึ่งของนครหลวงเวียงจันทน์ในอดีต พร้อมทั้งทัศนียภาพของแม่น้ำโขงในยามเย็น
16.30 น. เดินทางไปยัง สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 1 (หนองคาย–เวียงจันทน์) สะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง จากนั้นเดินทางสู่ตัวเมืองหนองคาย
19.00 น. รับประทานอาหารเย็น ที่สวนอาหารบ่อปลาวีเอส
20.00 น. เข้าพักที่ VANA Wellness Resort Nongkhai หรือเทียบเท่า**** จากนั้นพักผ่อนตามอัธยาศัย
วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2563
07.00 น. รับประทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารโรงแรม
08.00 น. เดินทางไปยัง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
08.50 น. ถึง วัดศรีชมภูองค์ตื้อ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2105 โดยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช สักการะพระเจ้าองค์ตื้อพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ปางมารวิชัยศิลปะแบบล้านช้างซึ่งประดิษฐานภายในพระอุโบสถ
09.10 น. เดินทางสู่ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
09.30 น. เข้าชม วัดพระแก้ว (เดิม) ภายในหน่วยเรือรักษาความสงบตามลำแม่น้ำโขงเขตหนองคาย สังกัดกองทัพเรือ โดยเมื่อหลังเสร็จศึกคราวสงครามกรุงธนบุรี–เวียงจันทน์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่นี่ ก่อนจะอัญเชิญไปประดิษฐานยังกรุงธนบุรี พร้อมฟังเรื่องราวของเมืองพรานพร้าว (ศรีเชียงใหม่) เมืองโบราณคู่ขนานกับนครหลวงเวียงจันทน์ที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่ยุควัฒนธรรมทวารวดี ทั้งยังสันนิษฐานว่าในฝั่งนี้เป็นที่ตั้งของวังหน้าของสมเด็จพระมหาอุปราชเวียงจันทน์อีกด้วย
10.20 น. ชม วัดธาตุดำ หรือธาตุคำ สร้างในสมัยเจ้าศิริบุญสารแห่งอาณาจักรล้านช้างต่อมามีการบูรณะโดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 ซึ่งยกทัพมาปราบเวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2369 และตั้งค่ายอยู่บริเวณด้านหลังวัด ด้านในเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานล่างรูปแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 7 ชั้น องค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยมสอบขึ้นด้านบน ซึ่งมีตำนานว่าเจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) ได้ส่งสายลับไปทำลายกลองหมากแข้งวิเศษ ซึ่งเมื่อตีแล้วพญานาคออกมาช่วยเวียงจันทน์ ครั้นทำลายกลองแล้วได้สร้างเจดีย์ปิดทับรู พอเวียงจันทน์ซ่อมกลองเสร็จตีเรียกแต่พญานาคออกมาไม่ได้จึงพ่นพิษเป็นธาตุดำ
11.00 น. ชม โบราณสถานพระธาตุขาว หรือพระธาตุเงิน เป็นเจดีย์ก่ออิฐฐานล่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีองค์ระฆังเป็นแบบบัวเหลี่ยมอิทธิพลศิลปะล้านช้าง โดยมีตำนานความเชื่อว่าพระธาตุองค์นี้สร้างครอบช่องประตูทางเข้า–ออกของรูพญานาคไว้
11.30 น. เดินทางกลับ ตัวเมืองหนองคาย
12.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านครัวแม่แป๊ด
13.30 น. เดินทางไปยัง วัดโพธิ์ชัย
13.40 น. ถึง วัดโพธิ์ชัย วัดคู่บ้านคู่เมืองของหนองคาย สักการะหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปศิลปะแบบล้านช้าง พร้อมฟังตำนานการสร้างและการอัญเชิญพระพุทธรูป 3 พี่น้อง คือ พระสุก พระเสริม และพระใส จากนครเวียงจันท์มายังกรุงรัตนโกสินทร์
14.20 น. เดินทางไปยัง พระธาตุหนองคาย
14.30 น. ถึง พระธาตุหนองคาย หรือพระธาตุกลางน้ำ เดิมชื่อพระธาตุหล้าหนองเป็นพระธาตุที่หักพังอยู่กลางลำแม่น้ำโขง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ตามตำนานอุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนมจากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีพบว่าองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร ย่อมุมที่ฐานและมีความสูงประมาณ 28.5 เมตร หักออกเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20–22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวน
15.00 น. เดินทางไปยัง อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ
15.20 น. ถึง อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เป็นอนุสาวรีย์เทิดทูนความดีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วในการปราบฮ่อ ในปี ร.ศ. 105 (พ.ศ. 2429) เสด็จในกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม รับสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่เมืองหนองคายเพื่อบรรจุอัฐิของผู้ที่เสียชีวิตในการปราบฮ่อ เดิมตั้งอยู่ที่หลังสถานีตำรวจภูธร จังหวัดหนองคาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ทางจังหวัดหนองคายได้รับงบประมาณให้เสริมสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อให้สง่างามสมกับเป็นอนุสาวรีย์ของผู้ที่ได้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองให้เป็นศรีสง่าแก่เมืองหนองคายสืบไป จึงย้ายมาสร้างใหม่ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด มีคำจารึกที่อนุสาวรีย์ทั้ง 4 ทิศ ทั้งภาษาไทย จีน ลาวและอังกฤษ
16.00 น. แวะซื้อของฝากที่ตลาดท่าเสด็จ
17.00 น. เดินทางไปยัง จ.อุดรธานี
18.00 น. รับประทานอาหารเย็น ที่ร้าน VT แหนมเมือง
19.00 น. ถึง ท่าอากาศยานอุดรธานี เช็คอินตั๋วโดยสารของทุกท่านให้เรียบร้อย
20.55 น. เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยสายการบินไทยสมายล์
22.00 น. ถึง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ โดยสวัสดิภาพพร้อมความประทับใจ
*** กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก ***
*พักเดี่ยว จ่ายเพิ่ม 1,200 บาท