วิจัยไทยไปถึงไหนกับงบประมาณ 1 แสนล้านบาท และการตั้งกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา

Uncategorized

หลังจากมีการประกาศจะตั้งกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา โดยควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และหน่วยงานวิจัยของประเทศทั้งหมดมาไว้ในกระทรวงเดียวกัน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และปฏิรูปประเทศไทยสู่ 4.0

เรามาดูกันว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้งบประมาณด้านการ “วิจัย” ไปขนาดไหนและผลที่ได้ “คุ้มค่า” กันหรือยัง

โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเผยค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาปี 2560 เป็นครั้งแรกที่ทะลุ 1 แสนล้านบาท ขณะที่สัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มร้อยละ 39 จากปี 2559

ปี 2560 ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยของประเทศ 113,527 ล้านบาท (ร้อยละ 0.78 ของจีดีพี) จาก 84,671 ล้านบาทในปี 2559

แบ่งเป็นการลงทุนของภาครัฐ 82,701 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73 ของการลงทุนทั้งหมด การลงทุนภาคเอกชน 30,826 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 27 ของการลงทุนทั้งหมด

ขณะที่ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึงเหตุผลในการควบรวมมี 4 เหตุผล คือ 1.เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 กระทรวงที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะต้องตอบโจทย์อาชีพคนไทยในอนาคตได้ 2.เตรียมผู้ประกอบการสู่ศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็น Start up และ SMEs 3.เตรียมเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และ 4.ประเทศไทยกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ซึ่งต้องพัฒนาทั้งกำลังคนและเทคโนโลยี

นอกจากนี้ หน่วยงานวิจัยของประเทศก็อยู่กระจัดกระจายและซ้ำซ้อน ดังนั้น รัฐบาลต้องการจัดองคาพยพใหม่ เพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0